วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติย่อของการแพทย์จีน

 
 
 ประวัติย่อของการแพทย์จีน 
        1286  10/21/2010 9:58:42 AM 

                                                        

            การแพทย์จีนมีประวัติอันยาวนาน นับแต่ยุคโบราณบรรพชนของจีนได้เรียนรู้ถึงการแพทย์จากการต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด ในขบวนการค้นหาอาหารนั้น ก็ได้ค้นพบอาหารบางชนิดนั้นสามารถบรรเทาหรือแก้ไขอาการของโรคบางอย่างได้ นี่คือต้นกำเนิดของการค้นพบและนำมาใช้ของยาจีน ในยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นนั้น ได้ค้นพบว่าจากการประคบโดยใช้ก้อนหินหรือดินทรายที่ร้อนซึ่งห่อหุ้มด้วยหนังสัตว์หรือเปลือกไม้ สามารถรักษาอาการของโรคบางอย่างได้ จากการกระทำซ้ำๆ และพัฒนาวิธีการเรื่อยๆจนกระทั่งเกิดวิธีการประคบด้วยความร้อน และการฝังเข็ม ในขบวนการประดิษฐิ์เครื่องมือหินของยุคหินนั้นได้ค้นพบว่าในการที่ได้ทิ่มแทงส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายนั้น กลับสามารถทำให้ความเจ็บปวดของอีกส่วนหนึ่งหายได้ จึงทำให้ค้นคิดวิธี "เปียนสือ" (ใช้หินกดจุด) และ "กู่เจิน" (การฝังเข็มโดยใช้เข็มที่ทำมาจากกระดูกสัตว์) โดยพื้นฐานของวิธีนี้พัฒนาไปเรื่อยๆ จนเป็น "เจิน ฉื่อ เหลียวฝ่า" (ฝังเข็มกดจุด) แล้วก่อเกิดเป็น จิงลั่วเซวียะซัว (ตำราเส้นลมปราณ)

[อ้างอิง: ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรจีนนั้น ก็ได้มีการใช้วิธีฝังเข็มแล้ว ในปี

ค.ศ.1963 เขตปกครองตนเองของมองโกลในประเทศจีนได้ขุดพบเข็มหิน 1 แท่งซึ่งเป็นของสมัยยุคหิน จากการวิเคราะห์จนแน่ชัดว่าเป็นเครื่องมือยุคโบราณที่ชื่อ  "เปียนสือ"  ซึ่งเป็นเข็มหินที่ใช้การฝังเข็มในยุคโบราณ ดังนั้น เปียนสือ นี้สามารถนับได้ว่าเก่าแก่มากมีอายุประมาณ 4 พันปีถึงหนึ่งหมื่นปีก่อน เป็นสมัยยุคหินใหม่ ในปี ค.ศ.1973 จากหนังสือแพทย์จีนที่ขุดได้จากหลุมฝังศพฮั่นเบอร์ 3 ที่เมือง หูหนาน นั้นพบว่ามีหนังสือ

2 เล่ม ที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับจิงไม่ในยุคโบราณ ซึ่งหนังสือ 2 เล่มนี้ก็คือจู๋ปี้สืออี๋ไม่จิ่วจิง และ ยินหยังสืออี๋จิ่วจิง หนังสือสองเล่มนี้ได้บรรยายถึงการกระจายของเส้นลมปราณทั้งสิบเอ็ดเส้น อาการที่แสดงออกและวิธีการฝังเข็มในการรักษา จากการสันนิษฐานเบื้องต้น คิดว่าตำราทั้ง 2 นี้เกิดก่อนคัมภีร์ หวางตี้เน่ยจิง ดังนั้นความรู้เรื่อง จิงลั่ว (เส้นลมปราณ) ในยุคนั้นน่าจะมาจากตำรา 2 เล่มนี้

            ทฤษฎีของแพทย์จีนนั้นมีบ่อเกิดมาจากการปฏิบัติต่อผู้ป่วยโดยตรงและได้รับการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่อยมา เมื่อหลายพันปีก่อนนั้นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันก็คือ "หวงตี้เน่ยจิง" ซึ่งก็คือ "ซู่เวิ่น" และ "หลิงชวี" หนังสือ 2 เล่มนี้นี่เอง ซึ่ง "หลิงชวี" ก็คือหนังสือ เจินจิง (คัมภีร์ฝังเข็ม) และ จิ่วจ้วน (เก้าบท) หลังจากนั้นก็มีคัมภีร์น่านจิงปรากฏสู่สายตา ซึ่งคัมภีร์น่านจิงชุดนี้ได้สรุปถึงประสบการณ์การรักษาและทฤษฎีการแพทย์ของยุคก่อนที่คัมภีร์น่านจิงจะได้กำเนิดออกมา

            เสินหนงเปิ๋นเฉ่าจิงเป็นคัมภีร์สมุนไพรจีนฉบับแรกที่สืบทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์ฉินราชวงศ์ฮั่นและแพร่หลายใช้มาจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์นี้ได้บันทึกชื่อสมุนไพรจีนถึง 365 ชนิด และบรรยายถึงทฤษฎีของการใช้สมุนไพรจีนต่างๆในบทของยา 1.จวิน (ยาหลัก) 2.เฉิน (ยาช่วย) 3.จั่ว (ยาปรับ) 4.สื่อ (ยานำ) 5.ชี่ฉิงเหอเฮอะ (ยาบางชนิดใช้ร่วมกันแล้วให้ฤทธ์ยาแปรเปลี่ยนไปมี 7 กลุ่มด้วยกัน )  และ 6.ซื่อชี่อู่เว่ย (สี่รสห้ากลิ่น) ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยอมรับว่าผลของยาสมุนไพรที่บันทึกไว้ในคัมภีร์เล่มนี้ส่วนใหญ่จะถูกต้อง เช่น หมาหวงรักษาโรคหอบ หวงเหลียนรักษาบิด สาหร่ายรักษาโรคคอพอก

            ในคริสต์ศักราชที่ 3 ท่านจังจ้งจิ่ง ปรมาจารย์ทางแพทย์จีนสมัยตงฮั่น ได้วิจัยลึกลงไปถึงพื้นฐานของคัมภีร์ ซู่เวิ่น เจินจิง น่านจิง และได้รวบรวมตำรายาของหลายๆท่านรวมทั้งประสบการณ์การตรวจรักษาทางคลีนิคของปรมาจารย์จังจ้งจิ่งท่านได้แต่งตำรา "ซังหันจ๋าปิ้งลุ่น" ซึ่งตำรานี้ได้ใช้ ลิ่วจิง แยกแยะโรคซังหันใช้จั้งฝู่แยกแยะโรคต่าง ๆ    โดยสรุปแน่ชัดว่าหลักการรักษาโรคนั้นจะต้องมีการมอง ฟัง ถาม และตรวจชีพจรด้วยวิธีการแมะรวมถึงการแยกแยะวิเคราะห์โรคจากสภาพร่างกายในขณะนั้น แล้วจึงใช้หลักการรักษาของ ป๋ากังเปี้ยนเจิ้ง   (หลัก 8 ประการในการรักษา)

            ค.ศ.215 - 282 ในสมัยซีจิ้น แพทย์จีนหวงผู่ปี้ ได้แต่งคัมภีร์เจินจิ้วเจี๋ยอี่จิง คัมภีร์เล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับการฝังเข็มที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน   คัมภีร์เล่มนี้มีอิทธิพลต่อวิชาการฝังเข็มของโลกอย่างมาก ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 วิชาฝังเข็มได้แพร่เข้าไปในประเทศเกาหลีและได้ใช้คัมภีร์เจินจิ้วเจี๋ยอี่จิงเป็นตำราการสอน   ค.ศ.562  ชาวจีนชื่อ อู๋จือชง ได้นำเอาหนังสือ หมิงถังถูและเจินจิ้วเจี๋ยอี่จิง เข้าไปในประเทศญี่ปุ่น   ต่อมา ค.ศ.701 ทางฝ่ายดูแลการแพทย์ของรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้คัมภีร์เจินจิ้วเจี๋ยอี่จิง เป็นตำราเรียนของนักเรียนแพทย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้   ในปัจจุบันก็ยังมีวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาฝังเข็มโดยตรง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 วิชาฝังเข็มก็ได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป

            ค.ศ.610 คณะปรมาจารย์เฉาเหวียนซู่ ได้ร่วมมือกันแต่งตำรา จูปิ้งเหวียนโฮ่วลุ่น ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่ที่สุดที่เขียนเกี่ยวกับสาเหตุของโรคต่างๆซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ตำราเล่มนี้มีทั้งหมด 52 บท  ซึ่งบรรยายถึงสาเหตุและอาการของโรคต่างๆทั้งโรคทาง

อายุรกรรม ศัลยกรรม และโรคเด็ก รวมทั้งโรคต่างๆที่เกิดกับอวัยวะทั้ง 5 ดังเช่นสาเหตุของการเป็นโรคพยาธิบางชนิดนั้น เกี่ยวเนื่องจากการรับประทานเนื้อดิบ เป็นต้น ตำราเล่มนี้ยังได้บรรยายถึงวิธีการตัดต่อลำไส้ การทำแท้ง และการถอนฟัน นับได้ว่าการทำผ่าตัดในยุคสมัยนั้นสามารถทำได้ในมาตรฐานระดับหนึ่ง

            ในช่วงราชวงศ์สุยถังปี ค.ศ.657 รัฐบาลสุยถังโดยการนำของปรมาจารย์ซูจิ้งได้รวบรวมบุคคลากรประมาณยี่สิบกว่าท่านช่วยกันแต่งตำราเปิ๋นเฉ่า(ยา) และได้ตั้งชื่อตำรานี้ว่า ถังซิงซิวเปิ๋นเฉ่า (ตำรายาที่แต่งปรับปรุงใหม่นี้เสร็จในปี ค.ศ.659) นับเป็นตำรายาฉบับแรกที่แต่งขึ้นในยุคราชสมัยสุยถัง ซึ่งถือเป็นตำรายาของรัฐบาลประเทศจีนถือได้ว่าเป็นตำรายาฉบับแรกของโลกด้วย ทั้งนี้ได้กำเนิดก่อนเป็นเวลา 883 ปี  ก่อนตำรายา

หนิวเป่าเย่าเตียน ของยุโรปที่แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1542 ตำราถังซิงซิวเปิ๋นเฉ่า มี 54 บท โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทยา 2.ภาพของยา 3.ถูจิง (ภาพของเส้นลมปราณ) ได้บันทึกตัวยาถึง 850 ชนิด หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อวงการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศอย่างมากโดยในปี ค.ศ.713 รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดเอาฉบับคัดลอกของ ตำรา

ถังซิงซิวเปิ๋นเฉ่า เป็นตำราเรียนของนักเรียนแพทย์ญี่ปุ่น

            ในปี ค.ศ.581 - 682 ท่านซุนซือเหมี่ยวปรมาจารย์ทางการแพทย์แห่งราชวงศ์ถังได้ทุ่มเททั้งชีวิตของท่านเพื่อแต่งตำรา "เป้ยจี๋เชียนจินเย่าฟัง" และ"เชียนจินอี้ฟัง" ตำราทั้ง 2 เล่มนี้ได้บรรยายถึง การตรวจทางคลีนิค การฝังเข็ม การรักษาโรคโดยอาหาร การป้องกันโรค และการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรงและอายุยืน โดยเฉพาะการขาดสารอาหารและการป้องกันของโรคบางอย่างมีการเน้นที่เด่นชัด เช่นท่านได้กล่าวไว้ว่า โรคคอพอกนั้นเพราะมนุษย์เราอาศัยอยู่บนเขาเป็นเวลานาน และดื่มน้ำที่ไม่ดีมาตลอดจึงเกิดเป็นคอพอกได้

            ในราชวงศ์ซ่งจะเน้นหนักด้านการศึกษาของแพทย์จีนอย่างมาก รัฐบาลได้จัดตั้ง

"หน่วยแพทย์หลวง" ซึ่งเป็นหน่วยสูงสุดที่จะฝึกบุคลากรของแพทย์จีน หลักสูตรการเรียนของนักเรียนแพทย์เหล่านี้ใช้ตำราซู่เวิ่น น่านจิง ซังหันลุ่น และจูปิ้งเหวียนโฮ่วลุ่น ฯลฯ ในปีค.ศ.1026 ท่านหวังเหว่ยอี้ซึ่งเป็นผู้คุมทางการแพทย์ได้หล่อหุ่นทองเหลืองขึ้นมา 2 ตัว เพื่อไว้ศึกษาวิชาฝังเข็ม และใช้สอนนักเรียนแพทย์ด้วย  โดยได้แกะจุด

เซวียะเว่ยทั้ง 354 จุด และสิบสองจิงไม่ โดยในเวลาสอนนั้นได้เติมน้ำเข้าทางจุดต่างๆของตัวหุ่นแล้วเคลือบภายนอกด้วยเทียนไขหากนักเรียนที่สอบฝังเข็มฝังถูกจุดจะมีน้ำไหลออก มา นี่คือวิธีการสอนครั้งแรกสุดในวงการแพทย์จีนที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ในค.ศ.1057 รัฐบาลราชวงศ์ซ่งได้จัดตั้งกรมตรวจสอบตำราการแพทย์ขึ้นใช้เวลาสิบกว่าปีเพื่อแก้ไขปรับปรุงตำราทางการแพทย์ตั้งแต่ยุคก่อนหน้านั้นให้ดีขึ้นและได้ใช้จนถึงปัจจุบัน

            ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 แพทย์จีนก็ได้เริ่มคิดวิธีผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันไข้ ทรพิษ นับเป็นต้นกำเนิดวัคซีนของโลกเลยทีเดียว

            ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 14 สมัยราชวงศ์จินและเหวียน ปรมาจารย์ทางการแพทย์ 4 ท่าน ซึ่งได้แก่

1)      ปรมาจารย์หลิวเหวียนซู่ (ค.ศ.1120 - 1200) ท่านคิดว่าอาการของซังหัน (รวมโรคที่มีไข้) มีความเกี่ยวพันกับความร้อน ดังนั้นต้องใช้ยาที่มีสรรพคุณเย็นในการรักษา ชนรุ่นหลังจึงขนานนามท่านว่าเป็น หันเหลียงไพ่ (ฝ่ายความเย็น)

2)      ปรมาจารย์จางฉงเจิ้ง (ค.ศ.1152 - 1228) โรคที่เกิดจากเชื้อภายนอกแล้วเข้าสู่ร่างกายนั้นก็ต้องขับเชื้อนั้นออกโดยวิธีการรักษามักใช้การขับเหงื่อ ทำให้อาเจียน และถ่ายออกทั้ง 3 วิธี จึงถูกชนรุ่นหลังขนานนามว่าเป็น กงเซี่ยไพ่

3)      ปรมาจารย์หลี่ตงเหวียน (ค.ศ.1180 - 1251) ได้พูดถึงว่าบ่อเกิดของโรคภายในร่างกายที่เกิดจากความบกพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร ดังนั้นการรักษาจึงเน้นบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เพราะม้ามและกระเพาะอาหารจัดเป็น ถู่ (ดิน) ในอู่สิง (ธาตุทั้ง 5) ดังนั้นจึงถูกชนรุ่นหลังขนานนามว่าเป็น ปู๋ถู่ไพ่ (ฝ่ายบำรุงธาตุดิน)

4)      ปรมาจารย์จูเจิ้นเฮิง (ค.ศ.1281 - 1358) ท่านคิดว่า หยางในร่างกายมักจะมีมากเกินพอ ส่วนยินมักจะขาด คือหยางมากยินพร่อง ดังนั้นวิธีการรักษาโรคควรใช้เสริมยินลดไฟ (ความร้อน) เป็นหลัก จึงถูกชนรุ่นหลังยกย่องให้อยู่ "ฝ่ายเสริมยิน"

            หลี่สือเจิน ปรมาจารย์การแพทย์ของจีนในราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1518 - 1593) ท่านได้ขึ้นไปค้นหายาสมุนไพรบนเขาตามที่ต่างๆ และได้ทำการค้นคว้าวิจัยเป็นเวลานานถึง 27 ปี จึงได้กำเนิดหนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมุ ทั้งหมดรวม 52 บท ตัวหนังสือ 1 ล้านกว่าตัวซึ่งได้รวบรวมยาถึง 1892 ชนิด และตำรับยาจำนวนหนึ่งหมื่นกว่าตำรับ ทั้งยังมีภาพบรรยายถึงพืชชนิดต่างๆถึง 1,100 กว่าภาพ ทำคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการยาของจีนและของโลกเป็นอย่างยิ่ง และในปีค.ศ.1606 หนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมุ ได้แพร่เข้าไปในญี่ปุ่นและได้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย หลังจากนั้นก็ได้แพร่เข้าไปในเกาหลี ยุโรป ทั้งยังได้แปลเป็นภาษาลาติน ฝรั่งเศส เกาหลี เยอรมัน อังกฤษ รัสเซีย โดยหนังสือเล่มนี้ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเรื่องยา และพืชพันธุ์ต่างๆทั่วโลกดังนั้นปรมาจารย์หลี่สือเจิน จึงเป็นที่รู้จักและได้รับการเคารพยกย่องนับถือจากชนทั่วโลกมาจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 - 19 มีการระบาดของโรคติดเชื้อเรื่อยๆ ปรมาจารย์

อู๋โหย่วสิ้น ซึ่งเป็นแพทย์จีนที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์หมิง ได้แสดงความเห็นว่าการเกิดโรคระบาดนั้นไม่ได้เกิดจากลม ความเย็น ความร้อน หรือความชื้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากความผิดปกติของชี่ (อากาศ) ได้ด้วยจึงได้ขนานนามชี่ที่ทำให้เกิดโรคระบาดนี้ว่า ลี่ชี่ (เชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ) ท่านได้อธิบายว่าการระบาดของโรคนั้นเกิดจากการที่ชี่ได้เข้าสู่ร่างกายทางปากและจมูก ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามเมื่อสูดเอาชี่นี้เข้าไปก็สามารถติดโรคได้ ทำให้เกิดความรู้ว่าโรคไม่เพียงแต่จะเข้าทางผิวหนังเท่านั้นยังสามารถติดต่อทางจมูกและปากได้อีกด้วย นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่

            มาจนกระทั่งราชวงศ์ชิง การรักษาเวินปิ้ง (โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ) ของแพทย์จีนมีประสบการณ์มากขึ้นโดยดูได้จากตำราเวินปิ้งเถียวเปี้ยนซึ่งแต่งโดยปรมาจารย์อู๋ถัง ตำราเวินเยอะจิงเว่ยแต่งโดยปรมาจารย์หวังซื่อสง ตำราเวินอี้ลุ่นแต่งโดย ปรมาจารย์อู๋ยิ่วเข่อ เป็นต้น

            ปรมาจารย์หวังชิงเยิ่น (ค.ศ.1768 - 1831) นักการแพทย์มีชื่อเสียงของราชวงศ์ชิงได้ใช้ประสบการณ์จากทางคลีนิคและการผ่าศพของท่านพบว่าเลือดคั่งตีบตัน (วีเสี่ย) เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค จึงได้ค้นคว้าพัฒนาวิธีการรักษา และเขียนตำราอีหลินไก่ชั่ว โดยแก้ไขความผิดพลาดต่างๆที่ปรากฏอยู่ในหนังสือกายวิภาคยุคก่อนๆ เน้นถึงความ สำคัญในการศึกษากายวิภาคว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาวิชาการแพทย์จีน

            ด้วยในช่วงเวลาร้อยกว่าปีมานี้ การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้แพร่เข้าไปในประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดการรักษาโดยแพทย์ทั้ง 2 แผนในจีน นักการแพทย์จีนส่วนมากมีความเห็นตรงกันว่าแพทย์จีนและแพทย์แผนปัจจุบันต่างก็มีจุดเด่นของตัวเอง ดังนั้นทางจีนจึงได้นำวิชาการแพทย์ทั้ง 2 แผนมาผสมผสานกันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ดังเช่นปรมาจารย์ถังจงไห่ (ค.ศ.1862 - 1918) ได้แต่งตำราจงอีหุ้ยทงอีซูอู๋จ่ง

ปรมาจารย์จูฉังเหวิน (ราวกลางศตวรรษที่19) ได้แต่งตำราหวาหยังจั้งฝู่ถูเซี่ยงเฮอะกว่า ปรมาจารย์จังเซอะฉุน (ค.ศ.1860 - 1933) ได้แต่งตำราอีเซวียะชงจงชันซีลุ หนังสือเหล่านี้ล้วนเป็นตำราการแพทย์ที่มีชื่อซึ่งเป็นตำราที่เขียนถึงการผสมผสานกันของแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากการก่อตั้งประเทศจีนหลังยุคปฏิวัติเป็นยุคใหม่นั้นได้เน้นถึงการร่วมกันปฏิบัติงานของแพทย์จีนและแพทย์ปัจจุบันเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วการเกิดและพัฒนาของแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แต่นั่นก็คือผลงานที่เกิดจากสติปัญญาและความฉลาดของมนุษย์

            ขณะเดียวกันการแพทย์แผนไทยก็มีความเกี่ยวเนื่องกับแพทย์แผนจีน โดยยาสมุนไพรไทยและยาสมุนไพรจีน มีการใช้ร่วมกันร้อยละ 30 - 40    ฉะนั้นหวังว่าในอนาคตการแพทย์แผนปัจจุบัน แผนไทยและแผนจีนควรจะร่วมมือกันโดยนำข้อดีข้อเสียของแต่ละแผนมาปรับเข้าหากันเพื่อประโยชน์ของมวลชนทั่วโลกสืบต่อไป

  

http://www.huachiewtcm.com/popuparticle.aspx?TopicID=5
 


1 ความคิดเห็น:

  1. Hello we Can supply Aviation Kerosene, Jet fuel (JP 54-A1,5), Diesel (Gas Oil) and Fuel Oil D2, D6,ETC in FOB/Rotterdam only, serious buyer should contact or if you have serious buyers

    my seller is ready to close this deal fast contact us below: now base email us severgazinvest@inbox.ru

    PRODUCT AVAILABLE IN ROTTERDAM/ CI DIP AND PAY IN SELLER EX-SHORE TANK.

    Russia D2 50,000-150,000 Metric Tons FOB Rotterdam Port.

    JP54 5000,000 Barrels per Month FOB Rotterdam.

    JA1 Jet Fuel 10,000,000 Barrels FOB Rotterdam.

    D6 Virgin Fuel Oil 800,000,000 Gallon FOB Rotterdam.

    E-mail: paveleriks@mail.ru
    Phone via WhatsApp/
    Call +79167856894

    Best Regards

    ตอบลบ