วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันรพีระอุจี้หาคนสั่งฆ่าปชช.มาลงโทษ


 

วันรพีระอุจี้หาคนสั่งฆ่าปชช.มาลงโทษ

เสวนาวันรพีระอุ "กิตติศักดิ์" ชี้นิรโทษกรรมต้องมองให้กว้าง ต้องหาคนสั่งฆ่าปชช.มาลงโทษให้ได้ "กอร์ปศักดิ์"ระบุ "ทักษิณ "ต้นตอขัดแย้งในปท. แฉนายทุนเสื้อแดงบางคนต้องการนิรโทษแบบไม่ยอมรับผิดใดๆ และต้องการเงินหมื่นล้านคืน พร้อมระบุมีนายทุนลงทุนทำงานวิจัยรู้จุดอ่อนคนไทย

          (7ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเสวนาทางวิชาการ "งานวันรพี 2554" โดยจัดเสวนาเรื่อง"นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน" โดยเชิญนายกิตติศักดิ์ ปรกติ    อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์  นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  และพล.ท.พีรพงษ์   มานะกิจ   อนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการคอป.เข้าร่วมเสวนา  ทั้งนี้คณะนิติศาสตร์ได้เชิญตัวแทนพรรคเพื่อไทยหลายคนให้มาร่วมงาน เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง   และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข แต่ได้รับการปฏิเสธ

















ช่วงแรกของการเสวนานั้น  นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นสามารถกระทำได้ จากประวัติศาสตร์ประเทศไทย คือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นมีกบฏบวรเดช สงครามโลกครั้งที่สอง  

รวมทั้งคณะราษฎรที่แปลงสภาพเป็นเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นก็มีการนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายเพื่อสร้างความปรองดอง 

โดยมีเหตุผลที่ยอมรับกันคือทุกประเทศมีต้นทุนทางการเมืองและสังคม หากใช้กำลังปราบปรามจะเกิดปัญหา 

คือต้นทุนที่จะพัฒนาบ้านเมืองลดลง  ฝ่ายสนับสนุนนิรโทษกรรมคือหากสร้างสรรค์ต้องลืมอดีต แต่การออกฏหมายไม่ใช่ลบล้างความผิดอย่างเดียว แต่ต้องอีกฝ่ายยอมรับการกระทำที่ทำไปนั้นเป็นความผิดก่อน 

           นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ความคิดนี้แม้อาจใช้ในทางที่ผิดคือการออกกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นไปในทางปรองดอง แต่เป็นเพียงข้ออ้างสำหรับออกกฎหมาย ตัวอย่างที่ถกเถียงกันคือการปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่มีการกล่าวหาว่านักศึกษาบางคนเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย   แต่เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นั้นไม่มีการนิรโทษกรรมให้ทหารและตำรวจ จากนั้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็มีการนิรโทษกรรมตัวเองโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร แม้รัฐสภาไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ก่อผลใดๆ   หลักนิรโทษกรรมนั้นต้องมีเหตุผลที่สมควร และมีภยันตรายหากใช้ไปในทางที่ผิด

           "สิ่งไม่พึงกระทำคือผู้มีอำนาจนิรโทษกรรมให้ตัวเอง เช่น นายพลปิโนเช แห่งชิลีที่นิรโทษกรรมให้ตัวเองและออกกฎหมายให้ตัวเองเป็นวุฒิสภาตลอดชีพรวมทั้งได้รับการคุ้มครอง  และช่วงนั้นมีการสังหารฝ่ายตรงข้ามของนายพลปิโนเช แต่ในที่สุดก็มีการหาช่องทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลและมีการดำเนินการเอาผิดกับนายพลปิโนเช แต่ทำไม่ได้เพราะเสียชีวิตไปก่อน   ปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ คือเพลโตระบุว่าการกระทำความผิดคือความเลวอันดับสอง   แต่อันดับหนึ่งคือการไม่ลงโทษคนกระทำผิด    ส่วนเอมมานูเอล คาลซ์  ระบุว่า หากนิรโทษกรรมบ่อยๆเจ้าหน้าที่รัฐจะละเลยในการเอาผิดคนที่กระทำผิด และการปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มองความจริงหรือใช้กำลังแทน    หากทุกฝ่ายในสังคมประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่บังคับกับคนอ่อนแอ แต่ยกเว้นกับคนที่มีอำนาจและรวย ทั้งนี้ต้องทำให้เยาวชนเชื่อว่ามันเป็นจริงได้"นายกิตติศักดิ์กล่าว

           ต่อมานายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ฟังสิ่งที่นายกิติศักดิ์พูดเเล้ว ตนเข้าใจว่านิรโทษกรรมน่าจะเป็นทางตัน  วันนี้ตนไม่ได้มาในนามพรรคประขาธิปัตย์ แต่มาแบบส่วนตัว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั้น ตนเป็นหนึ่งในผู้ติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร   หากพูดเรื่องนิรโทษกรรมและปรองดองควรถามตัวเองว่าพูดเพราะอะไร  และท้ายสุดหากอยากให้บ้านเมืองเดินหน้า เศรษฐกิจดี มีงานทำ  ดูแลครอบครัว ตัวเองมีความสุข ฉะนั้นกติกาสังคมนั้นทุกคนต้องปฏิบัติ หากทำผิดแบบเลยเถิดไปนั้นจะให้อภัยกันได้หรือไม่ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า 

          ความขัดแย้งนั้นมันต้องมีบ้างแต่ไม่รุนแรงเหมือนวันนี้   การทำงานของพ.ต.ท.ทักษิณคือต้นเหตุความขัดแย้งที่ต้องกลับไปมอง   เพราะตอนนั้นตนเป็นส.ส.ฝ่ายค้านที่คัดค้านการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ การให้พม่ากู้เงินแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ค้านไม่สำเร็จ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้อำนาจฝ่ายบริหารจนฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้   ต่อมาพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง จากนั้นพ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นและซุกหุ้นให้เทมาเสกแบบไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ตรงนี้คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแบบรุนแรงสุด เพราะประชาชนมองว่า ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่ตนพูดไว้ก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว  จากนั้นเกิดการรัฐประหารและทำให้ทุกอย่างดิ่งลงเหวทุกวัน

           นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า จากนั้นได้มีนายกฯจากพรรคพลังประชาชนสองคน แต่มีการต่อต้านและประชาชนเสียชีวิต ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯและตนเป็นรองนายกฯ   ตอนนั้นทุกอย่างมันเดินไปลำบากมาก   จะเห็นว่าหากไม่มีการปรองดองเดินต่อไปยากหรือไม่ ทุกคนอาจบอกว่ายาก แต่หากมองอีกมุมคือ ให้อีกฝ่ายชนะไปและอีกฝ่ายยอมแพ้  หากทำแบบนี้ก็มองไม่ออกว่าบ้านเมืองจะเป็นเช่นใด  ตนขอโยนโจทย์ข้อนี้ออกมาว่า จะปรองดองกันนั้น จะทำวิธีใดที่จะมองประเทศและประชชานโดยไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้อีก    หากไม่มีนิรโทษกรรมจะปรองดองได้หรือไม่  คือ คนที่มีความเห็นแตกต่างนั้นต้องนิรโทษกรรมเสียก่อนจึงจะปรองดองได้โดยยึดประเทศเป็นตัวประกันแบบนี้หรือ 

           "คนที่มีญาติพี่น้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งร้านค้าเสียหายจากการโดนเผาในช่วงปีที่ผ่านมานั้น คำถามคือหากเป็นญาติพี่น้องของตนนั้นจะรู้สึกเช่นใดว่า ให้อภัยทุกอย่าง มันยากนะ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งแต่ก็มีความสูญเสียและเดือดร้อน แม้จะเยียวยา ยกเว้นต้องให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมนุษย์  สมมติว่ามันยุติธรรมนั้น  หากตัวเองได้ประโยชน์ก็ดี แต่หากไม่ใช่ก็บอกว่าสองมาตรฐาน การเมืองวันนี้เดินมาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ข้อดีคือเลือกข้างไปเลยให้เป็นเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ   แม้ฝ่ายตนจะแพ้ แต่ตนมองว่า มันดีเพราะจะได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่หาเสียงไว้จะเดินหน้าอย่างไร เพราะบางฝ่ายมีการหาเสียงกันว่าต้องปรองดองและนิรโทษกรรม  วันนี้จะได้ดูของจริงกันแล้วว่าจะทำแบบใด  ช่วงนั้นพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะให้คอป.เดินหน้า   ตนเคนอ่านความเห็นของคอป.ที่เสนอครม.และครม.ปฏิบัติทุกครั้ง  รวมทั้งการค้นหาความจริง    ขอเล่าว่าความจริงมาจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเสกจนเกิดความขัดแย้งขึ้น " นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

           นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ความผิดทางอาญาไม่ควรนิรโทษกรรม  คนที่โดนคุมขังตอนนี้ต้องช่วยในเรื่องประกันตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบ โดยตอนนั้นนายกฯสั่งการไปแล้วแต่กระบวนการบางอย่างล่าช้า  อีกทั้งนปช.บางคนไม่ยอมรับความช่วยเหลือของรัฐบาลและอยากอยู่ในคุกต่อ   ตนเล่นเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์บ่อยและเกิดข้อสังเกตว่า ช่วงที่ตนเป็นพยานให้นายวีระ  มุสิกพงศ์ แกนนำนปช.จนได้รับการประกันตัว ตนโดนต่อว่าแบบเสียหายว่า ไปช่วยผู้ก่อการร้ายแบบไม่มีความผิด จริงๆแล้วมันไม่ใช่เลย    ตนคิดว่าทุกคนคงได้ดูคลิปนายตำรวจฆ่าคนตายแต่ไม่ติดคุกและได้ประกันตัว หากตนใส่เสื้อแดงไปชุมนุมและเผาเมือง ติดคุกหกเดือนนั้น ตรงนี้คือความขมขื่น  รวมทั้งคดีหมอที่โดนรถชน   หากเป็นคนสวนของตนทำแบบนั้นติดคุกไปแล้ว    

           นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ฉะนั้นตนมองว่าคนที่มาชุมนุมนั้น เกิดความสงสารคนที่มีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ตนรู้ว่าบางคนไปทำงานวิจัยคนไทยออกมาจนรู้จุดอ่อนและนำมาใช้ในคำว่า  ไพร่ อำมาตย์ สองมาตรฐาน  รวมทั้งคู่แข่งทางการเมืองของตนไปทำวิจัยว่าชนชั้นกลางว่าอยากได้อะไร จึงตอบสนองทุกอย่าง   นักการเมืองใช้วิธีนี้ปลุกระดมมวลชนจนได้เสียงสนับสนุน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วคำพูดเหล่านี้หายไปแล้ว   ส่วนทางออกของเรื่องนี้นั้น ตนคิดว่ายากและต้องใช้เวลา ความขัดแย้งในอนาคตควรกลับเข้าไปอยู่ในรัฐสภา อย่าออกมานอกถนนจนประชาชนเดือดร้อนอีก

           พล.ท.พีรพงษ์ กล่าวว่า  ตนทำงานในฐานะคอป.คืออนุกรรมการค้นหาความจริงและอนุกรรมการวิจัยทางวิชาการเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา  สิ่งที่นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า บางคนใช้หลักการตลาดปลุกระดมมวลชนนั้น  หากพิจารณาพ.ต.ท.ทักษิณเเบบปัจเจกชนก็ได้มุมหนึ่ง  แต่มองในมุมของรัฐบาลก็ได้อีกมุมหนึ่ง  ขอย้อนในอดีตว่าสงครามเย็นนั้นเป็นเรื่องภายนอกประเทศไทย แต่สหรัฐอเมริกาบอกว่า คอมมิวนิสต์ยิ่งตียิ่งโตในวันนั้นปัญญาชนไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นต้องมองให้ออกว่า  ต้องแก้ปัญหาความคิดทางการเมือง  เพราะนักศึกษาก็รักชาติ โดยนำความขัดแย้งมาแก้ทางการเมือง  คำถามคือได้อะไรมาบ้างหลังจากที่รัฐบาลยุคนั้นปราบปรามนักศึกษา   เพราะตอนนั้นมีมหาอำนาจฝ่ายขวาและซ้ายรวมทั้งพรรคการเมืองเข้ามา แต่ปัญหาคือ   คนของเราไปหากลุ่มนี้ได้อย่างไรทั้งๆ ที่มีเป้าหมายชัด  

           พล.ท.พีรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาวันนี้หากมองเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น พ.ต.ท.ทักษิณมีปัญหากับกลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนได้อำนาจทางการเมือง เมื่อกลุ่มทุนเข้าไปเทคโอเวอร์อำนาจทางการเมืองตามที่คนเสื้อเหลืองระบุ   เมื่อกลุ่มทุนเก่าสู้กลุ่มทุนใหม่ไม่ได้ จึงไปแสวงหาพันธมิตรฯ ตามทฤษฎีที่ตนวิเคราะห์คือใช้กำลังแก้ปัญหาคือ ปฏิวัติ  แต่หลังปฏิวัติแล้วมีการแก้โครงสร้างอำนาจแบบกระจายตัวหรือไม่  แต่กลับมีการไล่ล่าบุคคลโดยไม่ใช้การเมืองแก้การเมือง  แต่ใช้กฎหมายและกำลังแทนนั้น  การใช้กลไกรัฐก็มีปัญหาคือ  ใช้ทหารไปจัดการบริหารกับการชุมนุม    ทหารโดนฝึกมาจัดการศัตรู โดยโดนโปรมแกรมไว้แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นอริราชศัตรู  ล้มเจ้ารวมทั้งเป็นผู้ก่อการร้าย   ศอฉ.นั้นแม้นายกฯมอบอำนาจให้นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  รองนายกฯดูแลโดยส่งทหารไปแก้ปัญหา แต่ในชั้นสอบข้อเท็จจริงพบว่าทหารนั้นน่าสงสารเพราะไปทำตามหน้าที่  คำถามคือรัฐสั่งให้นำกองกำลังขนาดนี้ไปจัดการได้อย่างไร   ฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบด้วยในเรื่องนี้  ส่วนอีกฝั่งคือประชาชนที่มาชุมนุมกับคนที่อยู่เบื้องหลังว่าใครบริหารชายชุดดำ 

           "รัฐบาลอภิสิทธิ์มีฝ่ายสนับสนุนมากสุดในประเทศนั้น  ทำไมจับชายชุดดำไม่ได้เลยแล้วจะให้รัฐบาลใหม่สอบสวนหาชายชุดดำนั้นจะทำได้อย่างไรเพราะปล่อยเวลามาสองปีเศษแล้ว   ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายหากจะนิรโทษกรรมต้องคิดให้จบก่อนว่าปัญหาคืออะไร ควรวิเคราะห์สังคมไทยให้แตกฉานเสียก่อนหากมัวแต่มองเรื่องปัจเจก คือเพียงพ.ต.ท.ทักษิณอย่างเดียวมันไม่จบแต่ต้องคิดและปรับเชิงโครสร้างด้วย ทั้งนี้สุดยอดของการนิรโทษกรรมคือต้องใช้ Rule of Law เพราะสังคมไทยจะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้เพราะยังมีธรรมรัฐอยู่    แต่ตนไม่เห็นด้วยกับนปช. แต่จะมองข้ามไม่ได้ว่ามาชุมนุมเพราะอะไร เมื่อใดที่มองว่าประชาชนโง่ ก็เสี่ยงเหลือเกิน ปัจจุบันความรู้ของคนจนนั้นสูงมาก มีความรู้อยู่ในใจเพียงแค่ไปฟังจากใครมาก็สามารถ

ต่อยอดได้ การเรียนรู้ของคนจนวันนี้ล้ำหน้าไปมาก อย่าไปตัดสินใจแทนว่าคนจนไม่รู้เรื่องการเมือง " พล.ท.พีรพงษ์กล่าว
 
           ต่อมาการสัมมนาในช่วงที่สองนั้น  นายกิตติศักดิ์กล่าวอีกครั้งว่า  กล่าวได้ว่าความคิดปรองดองมีสองปีกคือ ปีกซ้ายคือให้อภัย แบบสุดปีกคือ ออกฎหมายอภัยโทษอย่างมองข้ามความผิดไปเลยแต่ต้องแสวงหาความจริงก่อน   เช่น การฆาตกรรมหมู่ของฮิตเลอร์   ส่วนอีกปีกหนึ่งคือปีกขวาที่ต้องเยียวยาและสอบสวน ซักฟอกความคิดว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดี จากนั้นค่อยคิดว่าจะให้อภัยกันหรือไม่     สองปีกนี้สัมพันธ์แบบสองด้านเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น    ฐานการนิรโทษกรรมนั้นมองได้สองปีกข้างต้นแล้ว ควรเข้าใจว่าจะนิรโทษการก่อความไม่สงบ   การกระทำที่กระทบความมั่นคงของรัฐจากมวลชนที่มีอารมณ์ชั่วแล่น  บันดาลโทสะรัฐ  รวมทั้งได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนด้วยหรือไม่  เพราะการประท้วงในทวีปแอฟริกานั้นมาจากกลไกสังคมพิการ ตรงนี้เป็นบาปหมู่ที่ทุกฝ่ายต้องเยียวยาและยอมรับได้    

           นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า  แต่การกระทำที่มีความชั่วในตัวที่มีความคิดไตร่ตรองตั้งใจกระทำผิด เช่น คนวางแผนให้ผู้ชุมนุมตีกัน  นำระเบิดไปยิงโดยไม่แสดงตัวให้สังคมแตกแยก   คนพวกนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษ     ส่วนเจ้าพนักงานนั้นได้รับคำสั่งให้ปราบการชุมนุมแม้บางครั้งกระทำไปรุนแรงบ้าง   เช่น โดนก้อนหินขว้างก็ไม่ควรใช้ปืนยิง แต่ต้องใข้โล่ห์ป้องกันตัวเท่านั้น ตรงนี้เจ้าพนักงานไม่ได้รับการอบรมในเรื่องแบบนี้   มันต้องโทษรัฐบาลที่ไม่มีการตั้งกองกำลังมาดูแลการชุมนุมอย่างนี้   เพราะการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่สี่หมื่นเจ็ดพันนายแต่ยับยั้งการชุมนุมไม่ได้   รัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วสองครั้ง   ตนจึงให้คะแนนสอบตก   เพราะรัฐบาลต้องหาทางปรับปรุงไว้ เนื่องจากน่าจะประเมินออกว่าปีต่อมาจะมีการชุมนุมอีกแน่นอน   

           "กรณีแบบนี้เจ้าพนักงานตั้งแต่นายกฯลงมาต้องรับผิดชอบ  เพราะผู้ก่อความรุนแรงนั้นใช้ความร้ายแรง แต่การตอบโต้กลับทำให้ประชาชนไม่ยอมรับเพียงพอ เพราะช่วงแรกของการชุมนุมกลับไม่ทำอะไร แต่ระยะหลังกลับทำรุนแรงมาก  ภาพมันเห็นว่า มีการถ่ายภาพคนใช้อาวุธหนักโจมตีฝ่ายรัฐบาลแบบยอมให้ถ่าย   เพราะคนพวกนี้เชื่อว่ายึดอำนาจรัฐได้ แสดงว่าต้องมีการแบ่งงานชัด แต่ทำไมไม่มีการจับกุมตัวให้ได้   รวมทั้งไม่มีการอธิบายการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่บางครั้งกระทำไปแบบสมควรแก่เหตุ บางครั้งเกินกว่าเหตุ   รวมทั้งการสอบสวนของดีเอสไอและคอป.รวมทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังไม่คืบหน้านั้นสมควรโดนตำหนิ   แต่ผู้ที่ประสงค์ต่อผลและวางแผนไว้ล่วงหน้านั้น ต้องนำตัวมาลงโทษและไม่นิรโทษกรรมให้ได้  ไม่ใช่ทำไปแล้วคนในสังคมคิดว่าทำอะไรตามอำเภอใจแล้วก็จะมีการนิรโทษให้  หากขืนปล่อยไปแบบนี้บ้านเมืองจะวนเวียนในวงจรอุบาทว์ "นายกิตติศักดิ์กล่าว   และยกตัวอย่างว่า นักแม่นปืนของเยอรมันตะวันออกที่มีหน้าที่ยิงคนหากจะข้ามกำแพงเบอร์ลิน  เมื่อมีการรวมชาติก็มีการลงโทษทั้งๆ ที่ทำงานตามหน้าที่ เพราะนักแม่นปืนสามารถยิงไปที่เท้าแทนหัวและหัวใจได้   สุดท้ายนักแม่นปืนและคนสั่งการก็โดนลงโทษคนละสามปีเพราะกระทำเกินกว่าเหตุ ฉะนั้นการปฏิรูปนั้นต้องกระทำภายใต้กฎหมาย 

           จากนั้นนายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกครั้งว่า  หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนั้นก็ไม่ถูกใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่มันยากหากอยู่ในช่วงเหตุการณ์    แต่การมองหลังเหตุการณ์มันง่าย ธรรมชาติของคนไทยจะไม่ใช้เงินไปเพื่อป้องกันกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น เสื้อเกราะอ่อนนั้นเพิ่งซื้อหลังเจ้าหน้าที่ตาย หากซื้อไว้ก่อนก็จะโดนอ้างว่าไม่มีงบ หากถามว่า ถ้ามีเจ้าหน้าที่พร้อมนั้นจะสลายชุมนุมง่าย  มันไม่ใช่ เพราะการชุมนุมมีเด็ก สตรี คนแก่ คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ร่วมด้วยเยอะมาก   วันนั้นหากรัฐบาลสลายการชุมนุมจะตายเป็นร้อย แต่การกระชับพื้นที่ในวันนั้นที่มีการมอบตัวแล้วเสียชีวิตในเหตุการณ์เพียงเจ็ดราย   

           "ช่วงที่ตนอยู่ที่ ร.11รอ.(ที่ตั้งของรัฐบาลและศอฉ.)นั้น บางเรื่องตนไม่พอใจเท่าใดนัก เพราะในช่วงนั้นนปช.เริ่มเข้า

กทม.ในเดือนมี.ค.2553  ตนเจรจาตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และราชประสงค์    กลุ่มนี้ต่อรองว่าขอให้นำทหารออกไปและนำตำรวจมาแทน  จากนั้นนปช.นำมวลชนสองหมื่นคนบุก ร.11รอ. โดยมีการเตรียมโซ่มาบนรถสิบล้อด้วย  และขู่ว่าจะใช้มวลชนห้าพันคนบุกเข้าไป หากจำได้ก่อนหน้านี้ก็มีการยิงอาร์พีจีเข้ามาใน ร.11รอ.  ช่วงนั้นเจ้าของพื้นที่คือทหารสามารถปราบได้ตามกฎอัยการศึก และในพื้นที่ ร.11รอ.มีอาวุธอยู่  ถามว่าผู้รักษาบ้านเมืองควรทำเช่นใด ตอบคือเจรจาทางการเมือง ทั้งๆที่ทหารพร้อมประกาศกฎอัยการศึกอยู่แล้ว ตนคุยกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.ขอให้ถอนมวลชนออกจากร.11 รอ. เพื่อที่จะให้นปช.ออกทีวีกับรัฐบาล  ผมนึกไม่ออกว่าหากนปช.ปีนเข้ามาจะทำเช่นใด เพราะทหารไม่ยอมแน่ๆ " นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

           นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า  ตอนนั้นตนคุยหลายคืนกับนปช.ทีละจุด    เมื่อได้คุยกับนายวีระแล้ว    นายวีระก็ไปคุยกับแกนนำคนอื่นกว่าสี่สิบคนในตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งโทรศัพท์จากต่างประเทศ    ฝ่ายนั้นก็เพิ่มข้อเสนอขึ้นเรื่อยๆท่ามกลางคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จนได้ข้อสรุปแล้วว่า  จะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีการเมือง เว้นคดีอาญา แต่คนที่โดนคดีอาญาไม่ยอม เพราะบอกว่า ตนไม่ได้อะไร  และคนกลุ่มนี้มีเงินสดเป็นทุนเจ็ดหมื่นหกพันล้านบาทซึ่งมีไม่กี่รายในโลก    ส่วนเหตุการณ์ที่วัดปทุมฯนั้นคนโดนยิงบาดเจ็บโทรศัพท์เข้ามาในช่วงที่ตนกินข้าว  โดยแจ้งว่าอยากออก  แต่ออกไม่ได้ ส่งใครมารับด้วย โดยช่วงนั้นรถพยาบาลเข้าไปไม่ได้   รวมทั้งไฟไหม้เซ็นทรัลเวิล์ด  รถดับเพลิงเข้าไปแต่โดนยิงทำจะอย่างไร  หากเสี่ยงชีวิตเข้าไปไม่คุ้ม  เพราะสิ่งของนั้นสร้างใหม่ได้ แต่ชีวิตคนนั้นสร้างใหม่ไม่ได้และไม่มีใครตายในช่วงที่มีการเผาเซ็นทรัลเวิล์ดด้วย     รัฐบาลทำงานด้วยความยาก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคุยจบแล้ว  หากไม่มีนายทุนคนนั้นที่มีเงินมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสิ่งที่ศาลฎีกาตัดสินไปแล้วแต่นายทุนคนนั้นต้องการนิรโทษทุกเรื่องเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ของทุกคน แต่คนๆ หนึ่งกลับได้เงินคืนสี่หมื่นกว่าล้านบาทด้วย    

           นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า  ตนขอเสนอว่ารัฐบาลชุดนี้ควรเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามที่หาเสียงไว้ให้เสร็จในหนึ่งปี  เพราะวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการรอบนี้หนัก และจีนก็ทำท่าจะไม่ไหวแล้ว   ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณนั้นอย่ากังวล ปล่อยให้ดูแลน้องสาวไปเพราะสิบห้าล้านคนเลือกมาให้ดูแลประเทศแล้ว   แต่เรื่องปรองดองยังไม่ต้องทำในวันนี้   ควรปล่อยการสอบสวนของคอป.ทำงานไปก่อน และควรไปเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาช่วยงาน รัฐบาลใหม่ต้องจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องให้ได้    โดยสิ่งต้องเร่งทำคือมาตรการทางเศรษฐกิจ ส่วนการนิรโทษกรรมนั้นอาจจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แต่รากเหง้าปัญหาต้องแก้ไขผ่านตัวแทนในสภา   วันนี้รัฐบาลต้องแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  หากทำได้ในสี่ปีจะช่วยเรื่องการเมืองได้ โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปภาษี  หากคนในสังคมมีฐานะดีขึ้น ใครก็มาจูงใจเรื่องต่างๆได้ยาก 

           "บางฝ่ายวิจัยว่า ทำอย่างไรจะกล่อมประชาชนให้ชอบสินค้าในแต่ละปี คือทฤษฎีคริสต์มาสชอปปิ้ง  โดยดำเนินการผ่านสื่อทีวี  จึงจะเห็นทีวีแดงและมือถือที่ทำมานานแล้ว  มันทำให้เกิดการปลุกระดมทางจิตใจ"นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

           ต่อมาพล.ท.พีรพงษ์ กล่าวว่า บริบทของทุนนั้นควรไปหาให้ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณรวยสุดในประเทศไทยจริงหรือไม่ แต่บางคนไม่มีตำแหน่งกลับมีอำนาจมาก เราต้องศรัทธาในประชาธิไตยและเศรษฐกิจในระยะยาวที่โครงสร้างต้องกระจายตัว  แต่โครงสร้างของสังคมไทยมันขัดกัน   คือทุนเก่ากับทุนใหม่ที่ขัดกัน เพราะมีเท้าที่มองไม่เห็น แต่อย่าใช้อำนาจนอกระบบและเครื่องมือพิเศษ    การสลายการชุมนุมครั้งที่แล้วไม่มีคำขอโทษแต่มีแค่คำว่าเสียใจเท่านั้น  หากตนเป็นรัฐบาลแล้วเกิดเหตุแบบนั้นก็ลาออกไปแล้ว  แต่วันนั้นฝ่ายการเมืองควรมีฝ่ายข้อมูลในสถานการณ์ช่วงนั้นประเมินสถานการณ์ด้วย       ทหารไทยไม่มีระบบทบทวนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและยังมีวัฒนธรรมว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือคำสั่งสวรรค์ และรุ่นพี่เลวที่สุดยังดีกว่ารุ่นน้องที่ดีที่สุดอยู่ในระบบ  ตรงนี้ต้องปฏิรูปกองทัพไปด้วย

           จากนั้นได้มีการให้ผู้ร่วมเสวนากล่าวสรุป  โดยนายกิตติศักดิ์กล่าวว่า นิรโทษกรรมนั้นมันขัดหลักนิติรัฐ  เพราะเมื่อใดที่มีการยกเว้นก็จะมีการหาช่องทางยกเว้นการกระทำผิดแบบซ้ำๆ อย่างแยบยลต่อไปเรื่อยๆ  และจะอ้างแบบนี้อีก  แต่มีข้อยกเว้นว่าการนิรโทษกรรมนั้นเป็นการคุ้มครองรัฐธรรมนูญเพื่อใช้แก้ไขรูรั่วของกฎหมายบางข้อที่ไม่ชัดเจนนั้น มันต้องดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนและเรียนรู้  โดยต้องดำเนินการให้เป็นธรรม

   
 

เพื่อไทยเงียบเป็นป่าช้าแฟนคลับหายเกลี้ยง


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่พรรคเพื่อไทยในวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา บรรดาพ่อยกแม่ยกและคนเสื้อแดง ที่จะมานั่งจับกลุ่มคุยกัน บริเวณหน้าพรรคและในพรรคเป็นประจำ ในวันนี้ต่างห่างหายไปหมด จะมีเพียงผู้สื่อข่าว บางช่อง บางฉบับ ที่มาเฝ้ารอทำข่าว ทั้งนี้การแถลงข่าวประจำสัปดาห์ในวันนี้ก็ไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด 


http://bit.ly/mPkemk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น