วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กทม.ผุดถนนใหม่128สายรับรถไฟฟ้า เปิดทำเลทองฝั่งธน-บูมโซนตะวันออก

วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:26:01 น.

กทม.ผุดถนนใหม่128สายรับรถไฟฟ้า เปิดทำเลทองฝั่งธน-บูมโซนตะวันออก

Share



กทม.รื้อใหม่โครงข่ายถนนตามผังเมืองรวม เชื่อมการเดินทางเข้าถึงถนนสายหลัก สายย่อย และแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ขีดเพิ่มจากเดิม 25 สาย เป็น 128 สาย ทั้งตัดใหม่และขยายซอยเดิม ฝั่งธนบุรีส้มหล่นทะลวงพื้นที่ปิดล้อมเปิดทำเลทองใหม่เพิ่ม โซนตะวันออกได้อานิสงส์ไม่น้อยหน้า เร่งแก้ปัญหาทางเข้า-ออก แอร์พอร์ตลิงก์-บีทีเอสส่วนโซนเหนือเปิดจราจรรอบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเฟสแรกเสร้างทันทีในปี"55



ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้จัดการโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ 4 มุมเมืองทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) และทะลวงพื้นที่ตาบอดให้เข้าถึงและสามารถสัญจรไปมาได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างถนนสายหลักกับถนนรองและสายย่อย ตลอดจนตรอกซอกซอย รวมถึงเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเปิดใช้บริการให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) บีทีเอสส่วนต่อขยาย (อ่อนนุช-แบริ่ง) และช่วงตากสิน-บางหว้า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ จึงได้เพิ่มโครงข่ายถนนจากผังเมืองฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 25 สาย เป็น 128 สาย 

"พื้นที่กรุงเทพฯปัจจุบันจะเป็นบล็อก การเข้าถึงลำบาก เพราะถนนขนาดรองไม่ค่อยมี หรือมีแต่ไม่ได้มาตรฐาน เราจึงมองว่าจะต้องเพิ่มโครงข่ายนี้เข้าไปเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการเดินทางให้ทะลุทะลวงได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการเปิดการพัฒนาในพื้นที่ใหม่ ๆ ให้เจริญยิ่งขึ้นไปด้วย สำหรับการก่อสร้างหรือขยายถนนทั้งหมดนี้ บางส่วนอาจจะต้องเวนคืนที่ดิน บางส่วนจะใช้แนวเขตทางเดิม"

ผศ.ดร.นพนันท์กล่าวว่า ตามแผนที่วางไว้จะเน้นไปที่การเพิ่มถนนสายรอง จำนวน 107 สาย มีทั้งถนนตัดใหม่และขยายถนนซอยเดิมที่แคบให้ได้มาตรฐานถนนสายรอง คือมีความกว้างขนาด 12 เมตร (2 เลน) และ 16 เมตร (4 เลน) โดยใน 107 สายดังกล่าว จะเป็นถนนขนาด 12 เมตร 22 สาย และถนนขนาด 16 เมตร 85 สาย 

ส่วนที่เหลืออีก 21 สาย จะเป็นถนนสายหลักขนาด 20, 30, 40, 50 และ 60 เมตร มีทั้งถนนสายเดิมมีอยู่แล้วตามผังเมืองรวมฉบับเดิม ถนนสายที่ปรับแนวเส้นทางใหม่ บางสายเป็นถนนตัดใหม่ เช่น สายต่อเชื่อมสุขสวัสดิ์-พระราม 2-ถนนสามแยกตากสิน-เพชรเกษม-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ (ฉ 1), สายจากเกษตร-นวมินทร์-ตัดถนนเสรีไทย-ซอยสุขุมวิท 77 ซึ่งจะปรับแนวใหม่ลากยาวไปถึงบริเวณบางนา-ตราด บริเวณตรงทางเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 (ช 3), สายรัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่ (ช 1) เป็นต้น 

ถนนตัดใหม่ เช่น ย่านหนองจอก มีสายเชื่อมถนนมิตรไมตรี-ถนนเชื่อมสัมพันธ์-ถนนอยู่วิทยา-ถนนคลองสิบสาม (ง 1) เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร, สายเชื่อมรามคำแหง-ตัดถนนเจ้าคุณทหาร-ถนนลาดกระบัง (ง 8), สายเชื่อมถนนพุทธบูชาตัดผ่านคลองราชพฤษ์-ถนนวงแหวนรอบนอก (ง 10), สายเชื่อมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9-ถนนวงแหวนรอบนอก (ง 9), สายต่อเชื่อมแยกลำสาลี-ถนนกรุงเทพกรีฑา-เชื่อม มอเตอร์เวย์ (ง 7) เป็นต้น 

นอกจากนี้มีบางสายกำหนดไว้ในผังเมือง กทม.ฉบับปัจจุบัน แต่จะยกเลิกไป เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่บรรจุไว้ในผังเมืองรวมนานแล้ว แต่ยังไม่มีการก่อสร้าง มี 2 สาย คือสายรัชดา-รามอินทรา (ฉ 1) จะยกเลิกตรงช่วงตัดผ่านซอยเสือใหญ่ และสายพระรามที่ 2-บางค้อ (ง 1) 

ผศ.ดร.นพนันท์กล่าวต่อว่า สำหรับถนนสายรองที่นำมาบรรจุไว้ในผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ จะอยู่พื้นที่รอบนอก และเป็นพื้นที่เพิ่งจะมีรถไฟฟ้าเข้าถึง รวมทั้งพื้นที่มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณ เกียกกาย ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน การเปิดใช้ศาลาว่าการ กทม.2 เป็นต้น 

ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.หรือฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีพื้นที่ตาบอดจำนวนมาก และอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ส่วนต่อขยายบีทีเอส (ตากสิน-บางหว้า) ทำเลหลัก ๆ เช่น ย่านหนองแขม ตลิ่งชัน เพชรเกษม ภาษีเจริญ บางแค จอมทอง บางบอน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ พุทธมณฑลสาย 1 จรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี เป็นต้น อาทิ ขยายถนนเลียบ คลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ-ใต้ เป็นขนาด 16 เมตร ฯลฯ 

ขณะที่พื้นที่โซนตะวันออกของ กทม. เช่น เขตวัฒนา ประเวศ สวนหลวง สะพานสูง ลาดกระบัง พระโขนง สะพานสูง คันนายาว บึงกุ่ม ร่มเกล้า จะมีการปรับปรุงหรือตัดถนนใหม่บางส่วนเช่นเดียวกัน เป้าหมายเพื่อให้การเข้าถึงและต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อขยาย (อ่อนนุช-แบริ่ง) คล่องตัวมากขึ้น เช่น สถานีลาดกระบัง ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จะขยายถนนทางรถไฟสายตะวันออกเดิมให้กว้างขึ้น ส่วนย่านถนนสุขมวิทในแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส จะขยายถนนในซอยเดิม เช่น ซอยสุขุมวิท 62 (บางจาก) เดิมถนนมีขนาด 6 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร เป็นต้น 

สำหรับพื้นที่โซนเหนือ เช่น ย่านสายไหม วัชรพล บางซื่อ หลักสี่ ดอนเมือง เป็นต้น มีทั้งขยายถนนเดิมและตัดถนนใหม่ ในบริเวณโดยรอบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด เช่น ย่านสนามกอล์ฟนอร์ธปาร์ค จะมีขยายถนนเดิม คือซอยชินเขตให้กว้างขึ้น ตัดถนนใหม่เชื่อม จากนอร์ธปาร์ค ไปออกถนนเลียงคลองประปา ขยายซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นต้น 

ในส่วนของพื้นที่อื่น ๆ เช่น บริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ จะกำหนดแนวก่อสร้างถนนตัดใหม่ ต่อเชื่อมกับทางรถไฟสายใต้กับสะพานเกียกกาย (ง 3), พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ก่อสร้างถนนตัดใหม่ (ง 2) จากถนนประชาราษฎร์ สาย 2-เลียบทางรถไฟสายเหนือ, พื้นที่โดยรอบอาคาร กทม.2 จะมีขยายถนนมิตรไมตรีเดิม เป็นต้น 

โดยแผนการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 เฟส คือเฟสแรก นำร่อง 5 ปี จากปี 2555-2560 ส่วนใหญ่เป็นแผนงานก่อสร้างของสำนักการโยธา กทม. ซึ่งได้งบประมาณ 2554 สำหรับศึกษาและออกแบบรายละเอียดแล้ว เน้นส่วนที่เป็นเส้นทางรองรับรถไฟฟ้า 4 สาย ทั้งสีแดง สีน้ำเงิน บีทีเอสส่วนต่อขยาย และรถ ไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เป็นหลัก ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการจัดลำดับความสำคัญอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนเฟสที่ 2 เป็นแผนระยะยาวตั้งแต่ปีที่ 6-20 จะดำเนินการลำดับต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น