วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จารีต-ธรรมเนียม-ราชสำนัก อำนาจในทำเนียบ ที่ "ยิ่งลักษณ์" ไม่อาจปฏิเสธ

 

จารีต-ธรรมเนียม-ราชสำนัก อำนาจในทำเนียบ ที่ "ยิ่งลักษณ์" ไม่อาจปฏิเสธ

Share96



 

แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เปลี่ยนสถานะจากซีอีโอ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์จัดสรรขาใหญ่ของตระกูล "ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 

ทิ้งสถานภาพเจ้าของธุรกิจบ้านเศรษฐี มีกำลังลงทุนปีละหลายพันล้าน เข้ารับเงินเดือนเดือนละ 121,1990 บาท ไปเป็นผู้ "อนุมัติ" รายจ่ายรัฐบาลปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท 

ทิ้งห้องทำงานสุดหรูหราจากตึกชินวัตร เข้าประจำการที่ตึกไทยคู่ฟ้า ที่พี่ชาย-อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 "พ.ต.ท.ทักษิณ" เคยบ่นว่า "เป็นห้องที่อึดอัด ไม่มีหน้าต่างกระจก จะเปิดดูเดือนดูตะวันก็ไม่ได้" 

ภารกิจข้างหน้าของเธอ นอกจากงานใหญ่หลวง นำพาประเทศให้พ้นจากหลุมดำ-ความขัดแย้ง และมรสุมเศรษฐกิจ ยังมีงานย่อย-รูทีน หลายสิบแฟ้ม ให้เธอต้องพิจารณาตัดสินใจ

อย่างน้อยก็มีงานในหมวดหมู่ที่เรียกว่า "หน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี" 2 หน่วยงาน ที่มีทั้งงานจารีตและธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ต้องศึกษา

ทั้งสำนักพระราชวัง (Bureau of the Royal Household) สำนักงานเก่าแก่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ในองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชกิจราชการ

ปีที่ผ่านมา (2554) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,606.2 ล้านบาท มี นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เป็นเลขาธิการ สืบทอดจาก นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ตั้งแต่ปี 2530 ถึงปัจจุบัน

ยังมีสำนักราชเลขาธิการ (ร.ล.) ที่เป็นหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับงานหนังสือ ที่หน่วยราชการ เอกชน และบุคคลทั่วไป ส่งเข้ามา เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบรมราชวินิจฉัย และพระมหากรุณา แล้วแต่กรณี 

รวมทั้งทำหน้าที่รับพระราชทานพระราชดำริ และพระราชดำรัส เพื่อเชิญไปยังหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทเป็นผู้ประสานงาน ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และบุคคลทั่วไป ทั้งที่เป็นราชการแผ่นดิน และการส่วนพระองค์

ในวาระที่ผ่านมา หากนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูล และทรงมีพระราชดำรัส มีพระราชดำริ หรือมี พระราชเสาวณีย์ เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง นายกรัฐมนตรีมักจะนำกระแสพระราชดำรัสนั้นมาถ่ายทอดต่อให้คณะรัฐมนตรี รับสนองไปปฏิบัติ ในระดับกระทรวง กรม และสำนัก 

ในยุค "ทักษิณ 1" เคยมีคนใกล้ชิด เสนอให้แต่งตั้ง "รัฐมนตรีประสานงานกับราชสำนัก" อย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้แต่งตั้งจวบจนจบสมัย 

อนึ่ง ในปีที่ผ่านมา ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 474.1 ล้านบาท ภายใต้การบริหารของ "ราชเลขาธิการ" ที่ชื่อ นายอาสา สารสิน 

ที่เหลือเป็น "ส่วนราชการ ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี" มีทั้งงานเศรษฐกิจ-ความมั่นคงและกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ยังมีงานด้านความมั่นคง แม้นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ "รองนายกรัฐมนตรี" กำกับ แต่ยังอยู่ภายใต้การ รับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ตามหลัก "นิติธรรม" ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 

และเพื่อไม่ให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" พลาดตั้งแต่วันรุ่งขึ้นที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำของ "วิษณุ เครืองาม" เธอจึงจำเป็นต้อง "ปฏิบัติตาม" ข้อเสนอของส่วนราชการทั้งสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด 

งานบริหารบุคคลภาครัฐ ที่ถูกจับตาตั้งแต่ก้าวแรก ในนโยบายหาเสียง "ข้าราชการเงินเดือน 15,000 บาท" ทำให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ไม่อาจละสายตา-วางมือจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ 

ไม่นับรวมมาตรการ-พิมพ์เขียว ตั้งรับมรสุมเศรษฐกิจ และรุกขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมาย ปีละ 6% 

ด้วยการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์นับแสนล้าน แต่แทบทุกโครงการ ก่อนถึงมือ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ต้องผ่านการวิเคราะห์จากสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงเสียก่อน 

ในยุค 2 นายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ ยุค "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เลือกกำกับส่วนราชการด้านเศรษฐกิจ 2 หน่วยงานนี้ ด้วยตัวเอง เป็นลำดับต้น ๆ 

ในแต่ละวัน ความสูงของแฟ้ม-พันธะ-ภาระตามจ็อบเดสคริปชั่นของ "ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี" ที่รออยู่ให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ลงนาม-อนุมัติ จึงมีอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต

จากนี้ไป ภารกิจ-พายุอำนาจในทำเนียบรัฐบาล ล้วนอยู่ในมือของเธอ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1312962921&grpid=no&catid=04&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น