วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สปสช.เปิดลงทะเบียนให้ผู้หมดสิทธิ์ประกันสังคม-สวัสดิการ ขรก.เข้ารักษาในระบบต่อเนื่อง


 
สปสช.เปิดลงทะเบียนให้ผู้หมดสิทธิ์ประกันสังคม-สวัสดิการ ขรก.เข้ารักษาในระบบต่อเนื่อง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์8 สิงหาคม 2554 19:18 น.
       สปสช.จัดระบบลงทะเบียนต่อเนื่องทันที ให้กับประชาชนที่หมดสิทธิ์จากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เพื่อไม่ให้เป็นสิทธิ์ว่าง หลังพบมีประชากรสิทธิ์ว่าง 4.8 แสนราย ตั้งเป้าให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ต่อเนื่อง และ รพ.สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ขณะที่การจัดสรรงบรายหัวปี 55 เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคหลังได้รับจัดสรรงบรายหัว 2,895.60 บาทต่อประชากร
       
       วันนี้ (8 ส.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการลงทะเบียนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความครอบคลุมสิทธิประกันสุขภาพ
       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวภายหลังประชุมว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ว่าง ซึ่งหมายถึงคนไทยที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ไม่ได้ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กเกิดใหม่จนถึงอายุ 5 ปี และกลุ่มวัยทำงาน ปัจจุบันยังมีประชาชนที่เป็นสิทธิ์ว่าง 4.8 แสนราย ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ กลุ่มที่หมดสิทธิ์ประกันสังคม และกลุ่มที่หมดสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้แก่ ลูกของข้าราชการที่อายุเกิน 20 ปี และข้าราชการรวมถึงครอบครัวของราชการที่พ้นสภาพโดยรับบำเหน็จ ประชากรทั้ง 2 ประเภทนี้จะกลายเป็นสิทธิ์ว่าง ซึ่งในส่วนที่ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ตามปกติ ทั้งนี้ มีกลุ่มที่เป็นปัญหา คือ กลุ่มที่หมดสิทธิ์เดิม แต่ไม่ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์ใหม่ โดยกลุ่มนี้ถ้าหมดสิทธิ์จากประกันสังคมและไม่ได้ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะถือเป็นสิทธิ์ว่างนั้น มีประมาณเดือนละ 80,000 ราย ขณะที่กลุ่มที่หมดสิทธิ์ข้าราชการและกลายเป็นสิทธิ์ว่างมีประมาณเดือนละ 8,000 ราย
       
       "ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องไม่เสียสิทธิในการเข้ารับบริการฉุกเฉิน และแก้ปัญหาหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับประชาชน โดยอ้างว่า ยังไม่มีสิทธิ์ สปสช.จึงได้ใช้วิธีการลงทะเบียนต่อเนื่องให้ โดยกลุ่มที่หมดสิทธิ์จากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการนั้น สปสช.จะดำเนินการลงทะเบียนเพื่อให้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการชั่วคราวก่อน และหากผู้มีสิทธิ์ไม่พอใจสถานพยาบาลที่ สปสช.เลือกให้ สามารถเปลี่ยนได้ทันที ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลดีทั้งต่อประชาชน และสถานพยาบาลที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกค่ารักษาพยาบาล และประชาชนได้รับสิทธิรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องด้วย" นพ.วินัย กล่าว
       
       ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง กล่าวว่า ปี 2555 รัฐบาลจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 2,895.60 บาทต่อประชากร ซึ่งการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 กำหนดภายใต้แนวคิดหลัก ดังนี้ การสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข การให้ประชาชนได้รับบริการต่อเนื่อง ครบถ้วนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ และลดหรือชะลอความรุนแรงของโรค การเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การสนับสนุนการจัดบริการที่มีคุณภาพ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์โดยชุมชน
       
       "นอกจากนี้แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินกองทุน โดย
1.การสนับสนุนการบริหารแบบเขตบริการสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็นและสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในเขตพื้นที่ ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบางรายการให้ สปสช.เขต โดยเริ่มการดำเนินการนำร่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ในเขตพื้นที่ สปสช.เขต 9-นครราชสีมา และ สปสช.เขต 13-กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม สำหรับปีงบประมาณ 2555 ยังคงดำเนินการนำร่องต่อเนื่องในพื้นที่ สปสช.เขต 2 เขตเดิม และจะขยายพื้นที่สปสช.เขตนำร่องเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง
2.การให้บริการสาธารณสุขที่เป็นโครงการเฉพาะหรือโครงการพิเศษและส่งเสริม อปท.มีส่วนร่วมให้บริการได้"
ศ.ดร.อัมมาร กล่าว

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000098738

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น