วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คอป. เสนอ 8 ข้อ แนะตั้งศูนย์เฉพาะกิจเยียวยาผู้รับผลกระทบจากการชุมนุม Thu, 2011-08-11 22:57


 

คอป. เสนอ 8 ข้อ แนะตั้งศูนย์เฉพาะกิจเยียวยาผู้รับผลกระทบจากการชุมนุม

       
11 ส.ค.54  ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง "การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความนรุนแรงตามหลักสากล" เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคนักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงผู้แทนองค์กรของต่างประเทศ ก่อนนำไปจัดทำรายงาน คอป.ฉบับที่ 2 นำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานอนุกรรมการการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง กล่าวถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของ คอป.ว่า ทางคณะทำงานได้ลงสำรวจตามหลักการเยียวยาสากล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวนั้นยังประสบปัญหาด้านต่างๆ อยู่ แม้ว่าการชุมนุมจะผ่านมานานพอสมควร จากผลสำรวจที่ได้เผยแพร่ที่พบผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 92 รายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53

นอกจากนั้นแล้วในกลุ่มของผู้ปฏิบัติการ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านจิตใจ คือ มีความเครียด ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าบางคนยังฝันถึงภาพในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการในพื้นที่การชุมนุม ที่เข้ามาขอรับการเยียวยาจากศูนย์ประสานงานเยียวยาฯ ของ คอป.พบว่า มีทั้งหมด 643 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการชดเชย เช่น โรงเรียนในพื้นที่การชุมนุม เช่น โรงเรียนปลูกจิต โรงเรียนวัดปทุมวนาราม โรงเรียนวัดชัยมงคล และโรงเรียนลุมพินี ที่พบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นค่าไฟ และค่าน้ำประปา รวมเป็นเงินกว่า 300,000 บาท ขณะนี้ยังไม่ได้ชำระ และหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ

สำหรับผู้ที่ร่วมชุมนุมและเกี่ยวข้องที่ถูกคุมขังจำนวน 105 คนนั้น จากการเข้าไปสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค.54 พบว่า ร้อยละ 10 มีอาการเครียดสูงมาก 

ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมี 2 คนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย
       
นพ.รณชัยกล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการการเยียวยาฯ มีข้อเสนอแนะเบื้องต้น ให้รัฐบาลใหม่ได้เร่งดำเนินการ จำนวน 8 ข้อ ได้แก่
       
1.ต้องเยียวยา ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดความเข้มแข็งในการใช้ชีวิต และเพื่อเป็นการยกระดับความสมานฉันท์ปรองดอง

2.รัฐบาลต้องเร่งรัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจ เป็นศูนย์กลางด้านงบประมาณพื่อเยียวยาเหยื่อ ให้ต่อเนื่องเป็นระบบ เพราะจากการสำรวจพบว่าครอบครัวผู้ที่ถูกคุมขัง 

ต้องไปกู้เงินนอกระบบจำนวนมากเพื่อนำมาประกันตัว
       
3.รัฐบาลควรประเมินตัวเลขความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รวมถึงครอบครัว

4.รัฐบาลควรขยายขอบเขตการเยียวยา ฟื้นฟู ไปในทางด้านสังคม เช่น แหล่งที่อยู่, แหล่งการค้า และอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

5.ต้องจัดทำข้อเท็จจริง เผยแพร่ไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดี ให้อภัย เกิดความเห็นใจ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณให้กับทุกฝ่าย

6.เร่งช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขัง ตามแนวทางของกฎหมาย เพราะบางรายมีภาวะของความเครียด ซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

7.รัฐบาลต้องเร่งรัดการประกันสิทธิ์ ผู้ที่ถูกคุมขัง รวมถึงตรวจสอบ จำแนกโทษที่แท้จริง และ

 8. ควรประสานความร่วมมือไปยังองค์กร หน่วยงานและทุกภาคส่วน และร่วมกับบูรณาการการทำงานภายใต้องค์กรกลางที่ดูแลข้อพิพาททางการเมือง 

ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพี่อให้การทำงานเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
       
นายสมชาย หอมละออ กรรมการ คอป.กล่าวว่า ในงานด้านกฎหมาย พบว่าผู้ที่ถูกคุมขังนั้น ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาที่เกินเลยจากความเป็นจริง ซึ่งมีมากถึง 53 คน ที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและวางเพลิง ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษถึงประหารชีวิต ทั้งนี้จากการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการพบว่าการตั้งข้อหาดังกล่าวนั้นเกิดจากแรงกดดันของผู้บริหารระดับนโยบาย อีกทั้งการจับกุมและตั้งข้อกล่าวหายังเป็นในลักษณะของการเหวี่ยงแห ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังไม่สามารถพิสูจน์พยานหลักฐาน
       
"จากการตรวจสอบพบว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงดำรงอยู่ คือ ความรู้สึกของผู้ที่ชุมนุมที่เห็นว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของการกระทำ และกระบวนการยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เชื่อว่ามีส่วนกระทำความผิดทางอาญาไม่มากก็น้อย ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม"
       
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) กล่าวถึงกรณีนางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปลดนาธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกจากตำแหน่งว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาทางการเมือง ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการปลดอธิบดีดีเอสไอแล้วจะกลายเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดอง ตนกลับมองว่ากระบวรการสร้างความปรองดองไม่เกี่ยวกับนายธาริต ที่เป็นฝ่ายสืบสวนสอบสวน
       
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วจะช่วยให้งานของ คอป.ง่ายขึ้นหรือไม่ นายคณิตกล่าวว่า การทำงานของ คอป. ไม่เกี่ยวกับว่าพรรคไหนมาเป็นรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของ คอป. สามารถพิสูจน์ให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่า หากให้การร่วมมือกับ คอป. เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้บ้านเมืองมีสติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ได้ประสานการทำงานไปรัฐบาลชุดใหม่แล้วหรือไม่ ประธาน คอป. กล่าวว่าไม่มีความจำเป็น เพราะ คอป.ได้ทำงานเพื่อประชาชน แต่ยอมรับว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุให้ คอป.ต้องรายงานผลดำเนินการทุกๆ 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานเร่งทำรายงานฉบับที่ 2 นำเสนอไปยังรัฐบาล โดนตนให้ความมั่นใจว่าจะรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้วในรายงานฉบับที่ 2 จะมีข้อเสนอที่ให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม
       
ส่วนคดี 13 ศพ ที่ดีเอสไอตีกลับไปให้ สตช.สอบสวนใหม่ เพราะมีพยานบางคนพลิกคำให้การ นายคณิตกล่าวว่า คงมีการพูดในรายงานฉบับที่ 2 ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะ คอป.ไม่ใช่กรรมการที่จะสอบสวนตรวจสอบเอาผิดกับใคร

http://www.prachatai3.info/journal/2011/08/36453

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น