วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรรหา กสทช. วุ่นไม่เลิก! ผู้สมัครตบเท้าฟ้องศาลรายวัน

สรรหา กสทช. วุ่นไม่เลิก! ผู้สมัครตบเท้าฟ้องศาลรายวัน

วันที่ 25/05/2554 20:15 (ผ่านมา 74 วัน 22 ชั่วโมง 41 นาที)

สรรหา กสทช. วุ่นไม่เลิก! ผู้สมัครตบเท้าฟ้องศาลรายวัน

สรรหา กสทช. ส่อเค้าล่ม ผู้สมัครแห่ร้องศาลปครอง กรรมการสรรหาขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 และยังไม่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 14 พ.ร.บ.กสทช.2553 ...

นายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า เจ้าหน้าที่สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 1 ใน 80 ผู้สมัครกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ที่มีนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยภายหลังตรวจสอบกระบวนการสรรหาการคัดเลือกผู้สมัครเป็นกรรมการ กสทช. พบว่า นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 1 ใน 15 คน ของกรรมการสรรหา กสทช.มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 256 และมาตรา 207(2) ที่ระบุว่าประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่สามารถเป็นกรรมการสรรหา กสทช.ได้ อีกทั้งพ.ร.บ.กรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2542 มาตรา 7 กำหนดไว้ว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะต้องไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ทำหนังสือแจ้งให้ทางคณะกรรมการสรรหา กสทช.รับทราบว่า นางอมรา ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ กรรมการสรรหากสทช.ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้คณะกรรมการสรรหากสทช.ไม่ครบองค์ประกอบ 15 คน ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสรรหา กสทช.ทุกครั้งที่ผ่านมา นางอมรา จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด

นายรัฐชทรัพย์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ร้องต่อศาลคือ ที่มาของตัวแทนสมาคม สมาพันธ์ ต่างๆ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นางยุบล เบ็จจรงค์กิจ นายกสมาคมวิชาการนิเวศน์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ประธานสมาพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค ไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐและไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่มีสิทธิและสถานะที่จะอ้างสิทธิตามมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เข้าเป็นกรรมการสรรหา กสทช.ตามที่พ.ร.บ.กสทช.กำหนดไว้ได้

"จากทั้ง 2 ประเด็น ถือว่าที่มาของกรรมการสรรหาฯ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ตนจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อได้ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับในการยื่นชื่อผู้สมัครเป็นกรรมการ กสทช.จำนวน 22 คน ต่อสำนักเลขาธิการวุฒิสภา" นายรัฐชทรัพย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสมยศ เลี้ยงบำรุง 1 ใน 80 ผู้สมัคร ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอคุ้มครองชั่วครวว กรณีขบวนการการสรรหา กสทช.ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม เพราะเปิดให้ผู้สมัคร 1 คน เลือกสมัครได้หลายสาขา อาทิเช่น สาขาเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย กิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น 
โดยต่อมา นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่ได้เลื่อนลำดับจาก 5 เป็น ลำดับที่ 4 หลังจากที่นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ผู้ผ่านการคัดเลือกกสทช 1 ใน 22 คน ขาดคุณสมบัติ เพราะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ถือว่า อสมท มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ กสทช. นอกจากนี้นายจตุรงค์ ยังเป็นรองประธานกรรมการ อสมท ด้วย และในวันนี้ (26 พ.ค.) นายณัฐัศิลป์ จงสงวน 1 ใน 80 ผู้สมัคร กสทช.จะไปยื่นฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกรณีคณะกรรมการสรรหาฯ มีความสัมพันธ์เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. 22 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพิ่มเติมว่า ตามพ.ร.บ.กสทช.2553 คณะกรรมการสรรหา กสทช.จะต้องเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็น กสทช.ให้ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 44 คน เพื่อคัดเลือกเหลือ 11 คน ภายใน 180 วัน หากวุฒิสภาไม่สามารถคัดเลือกได้ นายกรัฐมนตรี มีสิทธิ์ที่จะคัดเลือก กสทช.ได้ แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปแล้ว 125 วัน นับตั้งแต่พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2553 การสรรหากสทช.ยังทำได้เพียงบัญชี 2 (ระบบการสรรหา) 22 คน และยังมีการฟ้องร้องศาลปกครองว่าขบวนการสรรหาไม่โปร่งใส ขณะที่การสรรหากสทช.บัญชี 1 (ระบบคัดสรรกันเอง) 22 คน ยังไม่ได้ดำเนินการคัดเลือกแต่อย่างใด หากการสรรหา กสทช.ไม่ครบ 44 คน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถแต่งตั้ง กสทช.ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากเกิดความล่าช้าในขบวนการสรรหา กสทช.จะกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ของประเทศไทย เนื่องจากมีหลายปัญหารอให้คณะกรรมการ กสทช.สะสาง โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการ 3จี

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากสทช มาตรา 14 พ.ร.บ.กสทช...ปี 2553 ประกอบด้วย 
1.ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
2.ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
3.ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 
4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 
5.ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) 
6.ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) 
7.นายกสภาวิศวกร 
8.ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 
9.นายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย 
10.นายกสมาพันธ์สมาควิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 
11.ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอชน 
12.ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 
13.ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 
14.ประธานสมาพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ 
15.ประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค.

ไทยรัฐออนไลน์


ที่มา: ไทยรัฐ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น