วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์" สูงที่สุดในหมู่"คนแคระ" ความโชคดีของการรับไม้ต่อจาก"อภิสิทธิ์"


รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์" สูงที่สุดในหมู่"คนแคระ" ความโชคดีของการรับไม้ต่อจาก"อภิสิทธิ์"

วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:59:15 น.

Share

ในประเทศ

แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะท่องสคริปต์ว่าคนที่มีอำนาจในการฟอร์มคณะรัฐมนตรีคือตนเองไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่เป็นที่รู้กันว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดคือ "ทักษิณ"

ในวันที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง "ทักษิณ" เคยบอกกับคนใกล้ชิดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลให้ดีที่สุด

ประการหนึ่ง เพื่อสร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก

เพราะหากเริ่มต้นก้าวแรกดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

ประการหนึ่ง ถ้าทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีก็ถือเป็นการช่วย "น้องสาวสุดที่รัก" ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

ไม่แปลกที่ "ทักษิณ" จะพยายามควานหา "มืออาชีพ" ที่ฝีมือดีและภาพพจน์ดีมาเป็นรัฐบาล

ชื่อแรกที่ปรากฏในโผคณะรัฐมนตรีจึงเป็น "คนนอก" ระดับ "วิชิต สุรพงษ์ชัย" ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์

การทาบทาม "วิชิต" นั้นนอกจากเจรจากันโดยตรงแล้ว ยังมีการขออนุญาตจากหลายระดับ ซึ่งล้วนแต่ได้สัญญาน "ไฟเขียว" ผ่านตลอด

นอกจากนั้น ยังได้ทาบทาม "มืออาชีพ" อีกหลายคนทั้งมือเศรษฐกิจ นักกฎหมายหรืออดีตนักการทูต

แต่ยิ่งนานวันชื่อของ "มืออาชีพ" เหล่านั้นก็เริ่มหายไป รวมทั้ง "วิชิต" ที่ตัดสินใจถอนตัวเมื่อ "อิสระ ว่องกุศลกิจ" ประธานกรรมการน้ำตาลมิตรผลที่เขาชวนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้รับการตอบสนองจาก "ทักษิณ" เท่าที่ควร

"ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" เริ่มเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมือง เมื่อกลุ่มการเมืองเริ่มกดดันต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือญาติทั้ง "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" ซึ่งคุม ส.ส. ภาคเหนือ และ "พายัพ ชินวัตร" ที่คุมภาคอีสาน

รวมทั้งจากบ้านจันทร์ส่องหล้า

และยังมี "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ที่พยายามต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับ ส.ส.กทม.

นอกจากนั้น ส.ส. รุ่นเก๋าทั้งหลายที่ "ทักษิณ" เคยตกปากรับคำในตอนที่ชักชวนเข้าพรรคก็ยิ่งทำให้ความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นของเขาเริ่มกลายเป็น "ความฝัน"

"มือเศรษฐกิจ" ที่เคยแสดงตัวในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น "โอฬาร ไชยประวัติ-สุชาติ ธาดาธำรงเวช-มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" หายไปจากสารบบรัฐมนตรี

การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีดำเนินไปอย่างวุ่นวาย โผ ครม. ปรับแล้วปรับอีก

จนในที่สุดก็ลงตัวในคืนวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม



ถ้าถามว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นอย่างไร

คำตอบจะอยู่ที่เทียบเคียงกับอะไร

ถ้าเทียบกับ "โอกาส" จากการได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือเทียบกับรายชื่อของรัฐมนตรีในช่วงต้น

ตอบได้เลยว่า "น่าผิดหวัง"

เพราะไม่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้เลย

รายชื่อรัฐมนตรีส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกรด B หรือ เกรด C

ไม่ถึงขั้นเกรด A ที่เรียกเสียงฮือฮาอย่าง "วิชิต"

ที่สำคัญรัฐมนตรีที่ควรจะปรับระดับเป็นเกรด A หากอยู่ถูกที่ถูกทางก็ถูกจัดวางไปในตำแหน่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์

ชัดเจนที่สุด คือ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ที่ควรจะนั่งเก้าอี้ใหญ่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กลับถูกผลักไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนทีมเศรษฐกิจ ชื่อชั้นของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. และรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ถือว่า "สอบผ่าน" แม้จะไม่ "สุดยอด" นักก็ตาม

แต่ที่โดนวิจารณ์มากที่สุด คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เพราะเป็นตำแหน่งที่ "เพื่อไทย" น่าจะทำคะแนนได้ดีที่สุด

"กษิต ภิรมย์" นั้นถือเป็น "จุดอ่อน" ที่สุดของรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เพราะทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับต่างประเทศเลวร้ายที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ถ้า "เพื่อไทย" เลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ภาพพจน์ดี

เขาจะสร้าง "ความแตกต่าง" ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

แต่ "ทักษิณ" กลับเลือก ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่เชี่ยวชาญเรื่องไอซีทีมานั่งเก้าอี้นี้

เป็นที่รู้กันว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ "ทักษิณ" ต้องการคนที่ไว้วางใจมากที่สุด เพราะมีผลต่อการเดินทางในต่างประเทศของเขา

และ "สุรพงษ์" คือคนหนึ่งที่ "ทักษิณ" ไว้ใจ

ภาพลักษณ์ของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" จึงไม่สวยสดงดงามเหมือนกับหน้าตาของนายกรัฐมนตรี



แต่ถือเป็นเรื่องที่โชคดีอย่างยิ่งที่ "ยิ่งลักษณ์" มารับไม้ต่อจาก "อภิสิทธิ์"

รัฐบาล "อภิสิทธิ์" นั้นเป็นรัฐบาลผสมที่พรรคร่วมรัฐบาลมี "อำนาจต่อรอง" สูง

รายชื่อรัฐมนตรีของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" จึงเต็มไปด้วยตำหนิมากมาย โดยเฉพาะในโควต้าพรรคภูมิใจไทย จึงเรียกเสียง "ยี้" ดังลั่นตั้งแต่เริ่มต้น

นั่นคือ เหตุผลหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรุมถล่มรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ในเรื่องภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้เต็มปากเต็มคำ

เพราะเมื่อเทียบเคียงชื่อรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ๆ ของ 2 รัฐบาล จะเห็นได้เลยว่ารัฐมนตรีในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" แม้จะไม่สามารถเรียกศรัทธาจากประชาชนได้

แต่ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำ

และบางกระทรวงก็เหนือกว่า

กระทรวงการคลัง "กรณ์ จาติกวณิช" กับ "ธีระชัย"

คมนาคม "โสภณ ซารัมย์" กับ "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต"

พาณิชย์ "พรทิวา นาคาศัย" กับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง"

มหาดไทย "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" กับ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ"

ไอซีที "จุติ ไกรฤกษ์" กับ "นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ"

พลังงาน "น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล" กับ "พิชัย นริพทะพันธุ์"

ศึกษาธิการ "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" กับ "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล"

สาธารณสุข "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" กับ "วิทยา บุรณศิริ"

ต่างประเทศ "กษิต ภิรมย์" กับ "ดร.สุรพงษ์" ฯลฯ

จะเห็นชัดเจนว่านี่คือ "โชคดี" ของ "ยิ่งลักษณ์" ที่รับไม้ต่อจาก "อภิสิทธิ์"

แต่เป็น "โชคร้าย" ของคนไทย

ที่ "ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" ใช้โอกาสที่ได้รับจากประชาชนเปลืองเกินไป

เหมือนคนที่มีเงินในกระเป๋าเยอะ

แต่ซื้อของแพง

เมื่อก้าวแรกไม่ประทับใจ ก้าวต่อไปจึงเป็นก้าวที่สำคัญ

เมื่อ "ชื่อ" รัฐมนตรีขายไม่ได้

"ยิ่งลักษณ์" ก็ต้องทำ "ผลงาน" ให้ปรากฏตามความคาดหวังของประชาชน

6 เดือนนับจากนี้ไป จึงเป็นย่างก้าวที่สำคัญยิ่งของ "ยิ่งลักษณ์"


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313218771&grpid=no&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น