วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

108 ปีอาคารไทย-จีน สู่ภัตตาคารบลูเอเลเฟ่นท์


 
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7564 ข่าวสดรายวัน


108 ปีอาคารไทย-จีน สู่ภัตตาคารบลูเอเลเฟ่นท์


สาวิตรี เฉลิมจิระรัตน์


ท่ามกลางตึกระฟ้าและอาคารสำนักงานที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดบนถนนสาทร ย่านธุรกิจที่ค่าเช่าที่ดินแพงระยับ ใจกลางกรุงเทพฯ ยังมีตึกเก่าแก่ที่เต็มเปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมแฝงตัวอยู่ด้วย

ตึกที่กล่าวถึงนี้ ใครเดินผ่านจะต้องสะดุดตา เพราะตัวอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนี่ยล ตั้งอยู่ฝั่งสาทรใต้ ตรงบริเวณทางขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อาคารไทย-จีน เป็นทรัพย์สินของสภาหอการค้าไทย-จีน

ดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นตึกใหม่ เพราะได้รับการบูรณะซ่อมแซมตลอดเวลา เวลานี้ยังเห็นนั่งร้านติดตั้งอยู่ แต่แท้จริงตึกนี้มีอายุเก่าแก่ระดับคุณทวด เพราะปาเข้าไป 108 ปีแล้ว

เจ้าของตึกคนแรกเป็นชาวอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2446 เพื่อเป็นห้างสรรพสินค้าบอมเบย์ โดยตั้งอยู่ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล และโรงแรมเดอะ รอยัล (สถานทูตรัสเซียในปัจจุบัน)

ต่อมาในปีพ.ศ.2471 สภาหอการค้าไทย-จีน ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มมหาเศรษฐีชาวจีนในเมืองไทย ได้ซื้ออาคารหลังนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาอาคารดังกล่าวให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสภาหอการค้าไทย-จีน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารแห่งนี้กลายสภาพเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อสงครามยุติจึงกลับมาเป็นสำนักงานใหญ่ของสภาหอการค้าไทย-จีน อีกครั้ง กระทั่งสภาหอการค้าสร้างอาคารหลังใหม่ คือ อาคารไทยซีซี จึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่นั่น ส่วนอาคารหลังนี้ปล่อยให้เช่า

ผู้ที่ได้ครอบครองตึกเวลานี้คือ ภัตตาคาร ′บลู เอเลเฟ่นท์′ ภัตตาคารไทย-จีน ในเครือบริษัทบลู เอเลเฟ่นท์ กรุ๊ป ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องอาหารไทยที่โด่งดังในต่างประเทศ ตัวตึกสูง 3 ชั้น ไม่รวมห้องใต้หลังคา ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นและฝ้าเพดานเป็นไม้สักทั้งหมด ภายในร้านตกแต่งแบบไทยๆ มีเครื่องเรือนไม้และประติมากรรมไม้แกะสลักประดับตามมุมต่างๆ

1.บรรยากาศภายในร้าน

2.บาร์เครื่องดื่ม

3.โถงบันได

4.บรรยากาศภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ 



โครงสร้างทั้งหมดของตึกยังคงแบบเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ที่มีเงื่อนไขห้ามทุบทิ้ง และต่อเติม ดัดแปลง

หากใครพอมีกำลังทรัพย์ ลองหาโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศและลิ้มรสอาหารกันดู เพราะปัจจุบันลูกค้าที่รู้จักเสน่ห์ของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ที่เชิญลูกค้ามารับรอง รวมไปถึงกรุ๊ปทัวร์และลูกค้าชาวไต้หวัน

นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บลู เอเลเฟ่นท์ กรุ๊ป ร่วมกับสามีและหุ้นส่วนอีก 2 คน ถ่ายทอดเรื่องราวก่อนที่บลู เอเลเฟ่นท์ ...........จะได้ตึกเก่าแก่ ทว่าเปี่ยมมนต์ขลังแห่งนี้ว่า คาร์ล สเต็ปเป้ สามีทำธุรกิจด้านศิลปวัตถุมาเห็นตึกหลังนี้ในช่วงที่ผู้เช่ารายก่อน ซึ่งเป็นร้านอาหารไทย-จีนเช่าอยู่ เห็นแล้วหลงใหลในสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นไทยผสมผสานกับความเป็นสากล จึงติดต่อขอเป็นผู้เช่ารายใหม่ กระทั่งได้มาเปิดภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ขึ้นที่นี่ โดยสองชั้นแรกทำเป็นห้องอาหาร ส่วนชั้น 3 เป็นโรงเรียนสอนทำอาหาร

นูรอ มาสเตอร์ เชฟของบลู เอเลเฟ่นท์ ที่สั่งสมประสบการณ์มานานร่วม 30 ปี กล่าวว่า ตนเป็นคนรักการทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแม่ นอกจากนี้ ยังเคยไปเป็นเชฟฝึกหัดที่ครัวในอินเดียจึงได้รับวัฒนธรรมอาหารของอินเดียมาด้วย ที่ผ่านมาเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยนำอาหารไทย ไปโชว์ที่เทศกาลอาหารในต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นและนครเซี่ยงไฮ้ของจีน

1.ภายนอกของภัตตาคาร "บลู เอเลเฟ่นท์" 

2.เมนูน่ารับประทาน

3.เมนูบางส่วนภายในร้าน

4.ชิลลี่ เชอร์เบ็ต

5.นูรอ (ขวา)

6.แกงกุรุหม่าแกะ-ข้าวหมกแพะ

7.กุ้งผัดพริกเสฉวน



สำหรับ บลู เอเลเฟ่นท์ ร้านแรกเปิดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปีพ.ศ.2523 ได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีสาขาทั้งในยุโรป และตะวันออกกลาง อาทิ กรุงลอนดอน กรุงปารีส เมืองลีออง ดูไบ มอลตา กรุงจาการ์ตา ส่วนที่ประเทศไทย มีที่ ภูเก็ต สมุย และกรุงเทพฯ

นอกจากภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ยังมีโรงเรียนสอนทำอาหารไทย ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารไทย-จีน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเชฟและ ผู้ที่สนใจอาหารไทยทั่วไปทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย ซึ่งมีติดต่อกันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อาหารจานเด็ดของที่นี่เป็นอาหารไทยประยุกต์ ที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน อินเดียและญี่ปุ่น อาทิ ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน ตับห่านซอสมะขาม ยำมะเขือม่วงดอยคำ แกงปูใบชะพลู กุ้งแม่น้ำเผาจานร้อน ทั้งหมดใช้ผักผลไม้ปลอดสารพิษจากดอยคำ ผลิตผลจากโครงการหลวง

"คนต่างชาติชื่นชอบรสชาติอาหารไทยมาก อย่างที่กรุงจาการ์ตา คนชอบทานน้ำพริกลงเรือกับน้ำพริกกะปิ เราอยู่กับอาหารต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่ปิดตัวเองอยู่แต่ก้นครัว นอกจากภัตตาคารและโรงเรียน สอนทำอาหารแล้ว บลู เอเลเฟ่นท์ ยังมีโรงงานผลิตเครื่องแกงของตัวเองในชื่อ บลู สไปซ์ ที่ผลิตเครื่องแกง สมุนไพรแห้ง น้ำยำ ป้อนสาขาของ ตัวเอง รวมไปถึงร้านอาหารไทยที่อยู่ในต่างประเทศ" นูรอ กล่าว



ในโอกาสพิเศษที่อาคารไทย-จีน มีอายุครบรอบ 108 ปี ภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระนี้ ด้วยการสร้างสรรค์เมนูพิเศษ "Thai-Chin Mansion" สำหรับเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้

นูรอ กล่าวว่า "อาหารในเทศกาลนี้ตั้งใจให้สื่อถึงวัฒนธรรมอาหารประเทศของผู้ที่เคยครอบครองและประกอบธุรกิจในอาคาร ซึ่งมีทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย ออกมาเป็นเมนูอย่าง ยำไทย-จีน เช่น ยำแมงกะพรุน ที่ให้รสชาติกรุบกรอบจากเนื้อแมงกะพรุนใสเด้งคลุกเคล้าในน้ำยำที่ซึ่งมีรสชาติเผ็ดเปรี้ยวจัดจ้าน มีน้ำมันงาและขิง คล้ายๆ ยำเซี่ยงไฮ้ ซูชิกุ้งแม่น้ำพริกเผาปลาย่างที่หอมหวานน้ำพริกเผาแต่ปั้นข้าวในสไตล์ซูชิญี่ปุ่น โดยใช้ข้าวกล้องนึ่งเปลือกงอกซึ่งอุดมด้วยวิตามินและเป็นผลงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาห่อด้วยผักกาดดองแบบทางเหนือ"

นอกจากนี้ ยังมีขนมจีบไส้ตับห่านและไก่ที่ให้กลิ่นอายความเป็นจีนแต่มีรสชาติของไส้ที่กลมกล่อมหอมมันตับห่าน ต้มยำโสมไก่ดำ บำรุงกำลังที่มีรสชาติเผ็ดร้อนให้ประโยชน์ต่อร่างกายจากโสมและเครื่องต้มยำทั้งขิง ข่า ตะไคร้และใบมะกรูด

เชฟนูรอ กล่าวว่า ทีเด็ดอยู่ที่น้ำซุปซึ่งได้จากการเคี่ยวโสมและไก่ดำประมาณ 2-3 ชั่วโมง

เมนูที่น่าสนใจยังมีอีก อาทิ กุ้งผัดพริกเสฉวน แกงกุรุหม่าแกะ เคบับไส้อั่วไก่ และเปาะเปี๊ยะซาโมซ่าผักรวม

ใครสนใจไปลิ้มลองรสชาติสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่โทร.0-2673-9353-8 หรืออีเมล์ cooking.school@blueelephant.com 


หน้า 21

http://goo.gl/XkgFH

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น