วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

SIU ขอร่วมเสนอความเห็นต่อ "ข้อชี้แจงครั้งที่สองของทรู" โดยอิงจากเอกสารของทรู (ข้อที่ 4 ตามลำดับข้างต้น)


จากที่ SIU และสื่อหลายฉบับได้ลงบทความวิวาทะระหว่าง "สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ "บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด" ในเรื่องสัญญาคลื่น 3G ระหว่างทรูและบริษัท กสท. โทรคมนาคม มาโดยตลอด
ลำดับของบทความเป็นดังนี้
  1. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G : ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ? 12 พฤษภาคม 2554
  2. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนังสือชี้แจงบทความ TDRI เรื่องประโยชน์สาธารณะโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จากทรู 16 พฤษภาคม 2554
  3. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตอบ ทรู คอร์ปอเรชั่น เรื่องสัญญา 3G ระหว่าง ทรู กับ กสท. 17 พฤษภาคม 2554
  4. ทรู คอร์ปอเรชั่น ข้อชี้แจงต่อการคาดเดาเพิ่มเติมของ TDRI วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 17 พฤษภาคม 2554
SIU ขอร่วมเสนอความเห็นต่อ "ข้อชี้แจงครั้งที่สองของทรู" โดยอิงจากเอกสารของทรู (ข้อที่ 4 ตามลำดับข้างต้น) ดังนี้
หมายเหตุความเห็นของ SIU เน้นด้วยตัวอักษรสีแดง ตัวอักษรสีดำคือคำชี้แจงจากทรู และตัวหนาสีดำคือประเด็นของ ดร. สมเกียรติ
หมายเหตุSIU เคยสัมภาษณ์ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในรายการ Practical Utopia เพื่อขอความเห็นทางวิชาการเมื่อ พ.ศ. 2551 แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ นอกจากนั้นกับ ดร. สมเกียรติ รวมถึง TDRI ด้วย การให้ความเห็นนี้มีความเป็นอิสระ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ดร. สมเกียรติหรือ TDRI แต่อย่างใด
true move

ข้อชี้แจงต่อการคาดเดาเพิ่มเติมของ TDRI วันที่ 17 พฤษภาคม 2554

ตามที่ได้ปรากฏบทความของ TDRI ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 บริษัทฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้การเข้าใจผิดของผู้ที่อ่านบทความครั้งล่าสุดของ TDRI ดังต่อไปนี้
1.ประเด็นของ TDRI: ทรูมีสิทธิใช้โครงข่ายของ กสท ถึง 80% ซึ่งทำให้สัญญาขายส่งนี้มีผลบังคับผู้ขายเกินกว่าสัญญาขายส่งทั่วไปและกีดกันรายอื่น
ข้อชี้แจงของ True: การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเป็นการคาดเดาจากการที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงในสัญญาที่ทำขึ้น ดังนี้
  1. กสท มีความประสงค์ที่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการทางด้านโครงข่าย (Network Provider) กสท จึงต้องการจะมีกรรมสิทธิ์ในตัวเสา(Towers) ในกรณีของเรื่องนี้ทางกลุ่มทรูเป็นผู้ลงทุนในเสาอากาศ (antenna) บนเสา (Towers)ทั้งหมดแล้วให้ กสท เช่าเพื่อนำไปใช้ประกอบกับทรัพย์สินอื่นๆ (รวมทั้งคลื่นความถี่) ของ กสท เพื่อผลิตความจุ (capacity) ออกมา เมื่อได้ความจุ (capacity) แล้ว กลุ่มทรูซื้อไปใช้ขายต่อบริการร้อยละ 80 ส่วน กสท นำไปใช้เองหรือนำไปให้คนอื่นขายต่อบริการร้อยละ 20
    ทั้งนี้ เมื่อเสา (Towers) เป็นของกสท แล้ว ถ้ากสท. หรือมีลูกค้าของ กสท รายใหม่ประสงค์ที่จะใช้ความจุ (capacity) มากกว่าร้อยละ 20 ที่ผลิตออกมา กสท ก็ดี หรือลูกค้าของ กสท ก็ดีสามารถดำเนินการแบบเดียวกับกลุ่มทรู นั่นคือลงทุนในเสาอากาศ (antenna)นำไปติดบนเสา (Towers) เพื่อให้กสท ผลิต ความจุเพิ่มเพื่อซื้อเอาไปขายต่อบริการตามเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มทรูดังที่กำหนดโดยกติกาของ กทช. ก็ได้อยู่แล้ว
    ประเด็นนี้ขัดแย้งในตัวเอง เพราะ "การดำเนินงานของทรู" ในตัวของมันเองก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว (ดังจะเห็นได้จากการยื่นฟ้องศาลปกครองของ DTAC, การเข้ามาตรวจสอบของ ปปช. และ สตง. รวมถึงการอภิปรายในรัฐสภาต่อ "การดำเนินการของทรู") ดังนั้น การที่ทรูจะยกว่า ลูกค้าของ กสท. รายอื่นสามารถทำแบบเดียวกันได้ เป็นคำอ้างที่ไม่มีน้ำหนัก (เว้นเสียแต่ว่า ศาลจะตัดสินให้ ทรู สามารถทำสัญญากับ กสท. ได้ คำอ้างนี้จึงจะมีน้ำหนักมากขึ้น)
  2. ตัวเลข 80% เป็นอัตราเพดาน กล่าวคือเรียลมูฟจะซื้อความจุโครงข่ายได้ไม่เกิน 80% ไม่ได้หมายความว่าเรียลมูฟจะต้องซื้อความจุที่ 80%
    ในทางกลับกันก็ไม่มีหลักประกันใดว่าเรียลมูฟจะไม่ซื้อความจุเต็มเพดาน 80% เช่นกัน และตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การลงทุนด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ economy of scale เพื่อความคุ้มทุน ดังนั้นเรียลมูฟจึงมีแรงจูงใจสูงกว่าในซื้อความจุที่ 80% เต็มเพดาน
  3. ตัวเลข 80% นั้น ไม่ได้หมายความว่าเรียลมูฟจะต้องซื้อบริการความจุโครงข่ายที่ 80% เนื่องจากในการให้บริการ เรียลมูฟ ต้องคำนึงถึงความต้องการ (Demand) ของผู้ใช้บริการเป็นสิ่งสำคัญด้วย
    ด้วยเหตุผลเดียวกับข้อ 1.2 ก็คือมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าความต้องการของผู้ใช้บริการจะอยู่ที่ 80% (หรือมากกว่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศที่เติบโตสูงมากในรอบปีหลัง
  4. กสท. ในฐานะที่เป็นผู้ขายส่งบริการจึงเป็นผู้มีหน้าที่สร้างโครงข่าย เพื่อให้บริการขายส่งบริการตามปริมาณเพื่อสนองความต้องการทางตลาดของลูกค้า(เรียลมูฟ/ผู้ขายต่อบริการ) ซึ่งจะเป็นลูกค้าผู้ชำระค่าซื้อความจุ (Capacity) ที่ตนสั่ง การจะสั่งลงทุนขยายโครงข่ายมากหรือน้อยเท่าใด เรียลมูฟจึงต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดไม่ใช่จำนวน % ตามที่กล่าวอ้าง
    ข้อชี้แจงนี้ซ้ำกับข้อ 1.2 และ 1.3 จึงโต้แย้งได้ด้วยตรรกะเดียวกัน
  5. ทรูจะไม่ดำเนินธุรกิจสร้างการผูกขาดด้วยการขาดทุน (ถ้า TDRI เข้าใจธุรกิจ) จะเห็นได้ว่า กสท มีกลไกในการสร้างการแข่งขันโดยมิให้มีการผูกขาดได้อยู่แล้ว ในทางกลับกัน การที่ TDRI พยายามให้เหตุผลยับยั้ง กสท และ ทรูในฐานะหนึ่งในผู้ขายปลีก ต่างหาก ที่เป็นการขัดขวางรัฐวิสาหกิจเช่น กสท และเอกชนไทยรายเล็กในการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาดโดย 2 ผู้ประกอบการใหญ่ต่างชาติ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 75% ทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการยับยั้ง การลดการแข่งขันของ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใหญ่ทั้ง 2 เจ้า นอกจากผูกขาดและรักษาความได้เปรียบของสัญญาและปริมาณคลื่นแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขยายการลงทุนอีก ซึ่งทำให้ประเทศชาติสูญเสีย GDP ถึง 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาทจากการไม่มี 3G ใช้อย่างทั่วถึง
    - ถึงแม้สัญญาระหว่างทรูกับ กสท. จะไม่ผ่านด้วยเหตุผลใดก็ตาม (เช่น ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง) รัฐวิสาหกิจคือ กสท และ TOT ยังสามารถประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงบริการ 3G ได้อยู่แล้ว (และก่อนการเซ็นสัญญากับทรู กสท. ก็พิจารณาแนวทางการประกอบกิจการด้วยตนเองเป็นทางเลือกหนึ่งด้วย) มีเพียง ทรู เท่านั้นที่เสียโอกาสในการแข่งขันได้ 
    - การอ้าง "ผู้ประกอบการต่างชาติ" ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนัก เพราะสภาพตลาดโทรคมนาคมโลกในปัจจุบัน มีการแข่งขันจากบริษัทข้ามชาติในทุกประเทศ และทรูเองก็เคยเป็นบริษัทที่ร่วมลงทุนจากบริษัทต่างชาติ (กลุ่ม Orange จากประเทศฝรั่งเศส) แม้ต่างชาติจะถอนทุนออกไปในภายหลังก็ตาม นอกจากนี้การแข่งขันควรจะยืนอยู่บนหลักเกณฑ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ
    - การไม่มี 3G ใช้อย่างทั่วถึง เป็นเพราะการประมูลคลื่น 3G ของ กทช. เมื่อปี 2553 ถูกล้มไป เนื่องจาก กสท. ซึ่งเป็นคู่สัญญาของทรู ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ไม่ได้เป็นเพราะสัญญาของ กสท. กับทรู จะถูกล้มไป
    - ถ้าติดตามข่าวสารในช่วงก่อนประมูลคลื่น 3G ของ กทช. ในปี 2553 จะพบว่าผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่ 3 ราย (ซึ่งรวมถึงทรูด้วย) ต่างเตรียมพร้อมจะลงทุนในโครงข่าย 3G อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีของ AIS ที่ระบุว่าคลื่น 900MHz ของตัวเองไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 2G และ 3G พร้อมกันแล้ว
    - ทรูไม่ได้อธิบายถึงที่มาของตัวเลข 8 แสนถึง 1 ล้านล้านบาท จึงพิจารณาลำบากว่าตัวเลขนี้สมเหตุสมผลแค่ไหน
  6. ตัวเลข 80% มีที่มาจากสัดส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการของ กสท. ในส่วนกลาง (8 แสนราย) และในส่วนภูมิภาค (2 แสนราย) จึงใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อรองรับความจุโครงข่ายในแต่ละส่วนที่เพียงพอในกรณีที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนจากระบบ CDMA มาเป็นระบบ HSPA
    - ถ้านำปัจจัยด้านพัฒนาการของฐานลูกค้าของ กสท. จะยิ่งเห็นข้อบกพร่องในตัวเลข 80% เป็นอย่างมาก เพราะผู้ใช้บริการส่วนกลาง 8 แสนราย มาจากการทำตลาดของ Hutch เดิม ในขณะที่ผู้ใช้บริการส่วนภูมิภาค 2 แสนรายมาจากการทำตลาดของ กสท เองโดยตรง ดังนั้นฐานลูกค้าในแต่ละส่วนย่อมมีปัจจัยของ "รูปแบบและประสิทธิภาพของการทำตลาด" ที่แตกต่างกันอยู่ด้วย การที่จะนำสัดส่วน 8:2 มาเปรียบเทียบความน่าจะเป็นแบบตรงๆ จึงอาจไม่เหมาะสมนัก
    - ถึงแม้ทรูเองระบุว่าตัวเลข 80% เป็นเพียงตัวเลขตั้งต้นเท่านั้น แต่ก็เป็นตัวเลขที่ถูกกำหนดลงไปในสัญญาอย่างชัดเจนแล้ว และถ้าสัญญามีผลบังคับใช้ ทรูก็ย่อมใช้ประโยชน์จากตัวเลข 80% ได้อย่างเต็มที่ (ไม่ว่าที่มาของตัวเลขนี้จะถูกต้องแค่ไหน) และมีสิทธิซื้อความจุเต็มเพดานตามที่อธิบายแล้วในหัวข้อ 1.2 1.3 และ 1.4
2.ประเด็นของ TDRI: สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดที่เกินจากสัญญาเช่าทั่วไปโดยกำหนดว่า "กสท. จะนำคลื่นความถี่ในย่าน 800 MHz จำนวน 15×2 MHz มาใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของบริษัทเท่านั้น" (ข้อ 2.12)
ข้อชี้แจงของ True: การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเป็นการคาดเดาจากการที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงในสัญญาที่ทำขึ้น ดังนี้
  1. จำเป็นต้องมีการระบุย่านคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์ เนื่องจากอุปกรณ์โทรคมนาคมมีการตั้งค่าคลื่นความถี่ไว้ตั้งแต่ตอนซื้อ การสั่งซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจึงจะมีความเสี่ยงสูงถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนถึงค่าของคลื่นความถี่ที่จะใช้กับอุปกรณ์
  2. ผู้ที่เข้าใจและมีประสบการณ์ในการทำสัญญาย่อมทราบดีว่าในสัญญาเช่าอุปกรณ์โดยทั่วไปจะต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพการให้บริการ (SLA หรือ performance guarantee) ดังนั้น หากไม่ระบุคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์ เช่นหากนำคลื่นความถี่อื่นมาใช้กับอุปกรณ์นั้นจะทำให้อุปกรณ์นั้นไม่สามารถใช้งานได้หรืออาจใช้งานได้แต่มีประสิทธิภาพต่ำไม่ถึงเกณฑ์คุณภาพการให้บริการตามที่กำหนดในสัญญา
ข้อถกเถียงทั้งสองของทรูมุ่งไปที่คำว่า "ความถี่ย่าน 800MHz จำนวน 15×2 MHz" แต่เอาจริงแล้วคำที่เป็นปัญหาคือ "มาใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของบริษัทเท่านั้น" ต่างหาก จึงถือว่าทรูไม่ได้อธิบายในประเด็นนี้
3.ประเด็นของ TDRI: ทรูฯ เริ่มให้บริการ 3G ก่อน AIS และ DTAC ทำให้ทรูฯ ได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก
ข้อชี้แจงของ True:
  1. AIS และ DTAC มีการเปิดให้บริการ 3G ไปแล้ว โดย AIS มีการเปิดให้บริการ 3G ในปี 2008 ก่อนรายอื่นกว่า 1 ปี รวมทั้งกรณี TOT ก็ให้บริการ 3G ก่อนคนอื่นกว่า 2ปี โดยได้คลื่น 3G โดยไม่ต้องประมูล การอ้างไม่ให้ กสท. ให้บริการจะเป็นการให้สิทธิผูกขาด 3G ยังอยู่ที่ AIS และ DTAC
    - การให้บริการ 3G ของ AIS และ DTAC เป็นการบริการในลักษณะ "ทดลองให้บริการ" บนคลื่น 2G เดิม  เช่นเดียวกับ TRUE โดยเฉพาะกรณีของ DTAC ที่อยู่ใต้คู่สัมปทานเดียวกันกับทรูคือ กสท.
    - การให้บริการ 3G เต็มรูปแบบที่ไม่ใช่การทดลองให้บริการ มีเพียงกรณีของ TOT และ กสท. เพียง 2 รายเท่านั้น

    - TOT ได้คลื่น 3G โดยไม่ต้องประมูล เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ กสท. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทรู ก็ได้คลื่นมาแบบไม่ต้องประมูลเช่นกัน
    - ในกรณีที่ กสท. และ ทรู ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการคลื่น 3G ของ Hutch เดิม จะทำให้สภาพการแข่งขันของตลาด 3G คือ TOT (บริการเต็มรูปแบบในบางจังหวัด) และ AIS/DTAC/TRUE (ทดลองให้บริการบนคลื่นความถี่เดิม) ซึ่งเป็นสภาพการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าสิทธิผูกขาดจะอยู่ที่ AIS และ DTAC ตามที่ทรูกล่าวอ้างแต่อย่างใด
  2. DTAC มีอายุสัญญาเหลืออีก 8ปี โดยทรูมูฟเหลือสองปี เมื่ออายุสัญญาของทรูมูฟหมดจะเป็นการให้ DTAC ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว
    - ข้อมูลเรื่องอายุสัญญาสัมปทาน 8 ปี และ 2 ปี เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
    -  เมื่ออายุสัญญาของทรูมูฟหมดลง จะทำให้ DTAC บริการเพียงผู้เดียว "ใต้สัมปทานของ กสท." แต่ในตลาดจะยังมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ คือ AIS (ใต้สัญญาสัมปทานของ TOT) และตัว TOT เองเหลืออยู่ นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่เหลืออยู่ ยังมีความเป็นไปได้ที่ กสทช. จะจัดสรรคลื่น 2.1GHz จำนวน 3 ชุดให้กับเอกชนรายเก่าหรือรายใหม่ สำหรับบริการ 3G อีกด้วย การที่บอกว่า DTAC ให้บริการเพียงผู้เดียวคงไม่ถูกต้องนัก
  3. DTAC มีคลื่นย่าน 2G จำนวนถึง 50 MHz และย่าน 3G จำนวน 10 MHz เมื่อเทียบกับทรูมูฟซึ่งมีคลื่นความถี่ 2G เพียง 12.5 MHz และย่าน 3G เพียง 5 MHz เพราะเหตุใด TDRI จึงเข้าข้าง DTACโดยไม่ยกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย หากจะอ้างว่าเป็นเรื่องของสัญญาเดิมที่ทำมา ก็ไม่แตกต่างกับกรณีของ ทรูฯ เนื่องจากก็เป็นสัญญาที่มีความเป็นมาจากสัญญา Hutch เดิมแล้วถึง 9 ปี โดยสัญญาทั้งหลายก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดเช่นกัน หากเห็นว่าสัญญา Hutch ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุใดถึงไม่ยกตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมายกในตอนนี้
    - ประเด็นเรื่องจำนวนคลื่นของ DTAC และทรู "เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม" เป็นข้อวิจารณ์ที่ถูกต้อง และบ่งชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทยที่บิดเบี้ยวมานาน ซึ่งน่าเห็นใจทรูในเรื่องนี้
    -  ประเด็นเรื่องสัญญา Hutch ไม่เป็นธรรม อาจจะนำมาพิจารณาประกอบโดยตรงไม่ได้ทันที เพราะสัญญาของ Hutch เกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มี กทช./กสทช. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของ กสท. และ TOT) แต่การซื้อ Hutch ของทรูและทำสัญญาใหม่กับ กสท. เกิดขึ้นในช่วงที่มี กทช. แล้ว ทำให้บทบาทของ กสท. (ซึ่งเป็นคู่สัญญาทั้งสองกรณี) แตกต่างกันออกไปในช่วงเวลาที่ต่างกัน
  4. การที่ กสท. นำคลื่น 3G มาใช้งานเป็นความชอบธรรมและเป็นสิทธิของ กสท. ไม่ใช่เรียลมูฟ
    - ถ้าตีความตามเอกสารโดยตรง คลื่น 3G เป็นสิทธิของ กสท. จริง
    - แต่ในทางปฏิบัติ การทำสัญญาใช้งานคลื่น 3G กับทรู มีประเด็นที่ผิดปกติหลายประการ (หนึ่งในนั้นคือตัวเลข 80% ตามที่ ดร. สมเกียรติยกขึ้นมาในข้อ 1) ซึ่งพนักงานของ กสท. เองก็คัดค้านในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากข่าว คณะทำงาน CAT ลาออกยกชุดประท้วงดีล TRUE เร็วผิดปกติ เมื่อปลายเดือน ม.ค. 54 และข่าวที่ ปปช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท คณะกรรมการกสทกับพวก
    - ดังนั้นคำถามก็คือ กสท. นำคลื่น 3G มาใช้โดยชอบธรรม โดยที่เรียลมูฟไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจของ กสท. จริงหรือไม่?
  5. การที่ AIS และ DTAC มิได้เปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการ (โดย AIS ทดลองถึง 1800 สถานีและ DTAC ทดลองถึง 1400 สถานี) ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่ให้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ DTAC ก็มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะขอเปิดให้บริการก่อนที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง
    - ข้อถกเถียงนี้เป็นการเล่นกับความไม่แน่นอน เพราะในทางกลับกันก็ไม่จำเป็นว่า "หน่วยงานของรัฐจะอนุญาตให้เปิดบริการอย่างเป็นทางการ" เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การประมูลความถี่ 3G ของ กสทช. ใกล้เข้ามา ทำให้หน่วยงานของรัฐ (ในที่นี้คือ TOT และ กสท) อาจลดความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยรอการประมูลความถี่ของ กสทช. แทนก็ได้
    - กรณีของ DTAC นั้นยิ่งชัดเจนว่าเกิดความ "เหลื่อมล้ำ" ในทางปฏิบัติ เพราะ DTAC และทรูต่างเป็นคู่สัมปทานกับ กสท. เช่นเดียวกัน แต่เพราะเหตุใด กสท จึงอนุญาตให้ทรูเปิดทดลองให้บริการด้วยจำนวนสถานีที่มากกว่า DTAC มากในช่วงแรก
  6. ในกรณีของการขายต่อบริการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หาก DTAC ต้องการขายต่อบริการ 3G เช่นเดียวกันกับเรียลมูฟ ก็สามารถเข้าไปร่วมในโครงการของ กสท ได้อยู่แล้ว โดย DTAC ต้องลงทุนในเสาอากาศทำนองเดียวกันกับกลุ่มทรู ส่วนคลื่นนั้น DTAC สามารถให้กสท นำคลื่นย่าน 850 MHz ไปใช้เพื่อผลิตความจุ (Capacity) เช่นเดียวกัน
    - ข้อนี้ใช้หลักการเดียวกับข้อ 1.1
4.ประเด็นของ TDRI: การทำสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐเสีย 3.9 หมื่นล้าน
ข้อชี้แจงของ True: การกล่าวว่าการทำสัญญาดังกล่าวจะทำให้รัฐเสีย 3.9 หมื่นล้านนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและบิดเบือนข้อเท็จจริง
  1. ผู้เขียนเข้าใจผิดว่าผู้ที่ต้องจ่าย 3.9 หมื่นล้านให้กับรัฐคือเอกชน ซึ่งที่จริงแล้วผู้ที่จะต้องรับต้นทุนคือผู้ใช้บริการทั้งหมด ที่ผู้เขียนพูดว่ารัฐเสียหายหมายถึงรัฐที่เป็นประชาชน หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือรัฐต่างประเทศ
    -  การระบุว่า "ผู้ที่ต้องรับต้นทุนคือผู้ใช้บริการ" หรือ "ผู้ประกอบการเอกชน" กันแน่ เป็นหัวข้อที่ยังถกเถียงกันมากในวงการเศรษฐศาสตร์ ซึ่งฝั่ง ดร. สมเกียรติ เองที่ระบุว่าเงิน 3.9 หมื่นล้านคือกำไรส่วนเกินของเอกชน ก็มีข้อสนับสนุนเชิงวิชาการเช่นกัน ดังนั้นถือว่าประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
    - อย่างไรก็ตามข้อโต้แย้งของ ดร. สมเกียรติ นั้นถูกต้องแล้วว่ารัฐจะเสียประโยชน์ เพียงแต่อาจจะไม่ได้เสียทั้งหมด 3.9 หมื่นล้าน (ตัวเลขประเมินขั้นต้นตามราคาประมูลตั้งต้นของคลื่น 3G) ซึ่งจะอธิบายในข้อ 4.2 ต่อไป
  2. ตัวเลข 3.9 หมื่นล้านที่พูดเป็นตัวเลขที่มาจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz จำนวน 45 MHz แต่ กสท มีคลื่นที่ย่าน 800 MHz อยู่เพียง 10 MHz ดังนั้น จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
    - การประมูลคลื่น 2.1GHz ของ กทช. จำนวน 45MHz จะถูกจัดสรรให้ผู้ประกอบการ 3 ราย รายละ 15MHz ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงกว้าง 10MHz ของ กสท. ก็มีความแตกต่างกันเพียง 1 ใน 3 หรือ 33%
    - ตัวเลข 3.9 หมื่นล้านเป็นตัวเลขที่มาจากการประมูลคลื่น 45MHz ของ กทช. ในสภาพที่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ยังไม่มีรายได้ได้คลื่น 800MHz ช่วงกว้าง 10MHz ของ กสท ไปครอบครอง ซึ่งถ้าหากทรูได้คลื่น 800MHz ไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นช่วงกว้างแค่ 10 MHz แต่ก็จะทำให้ความจำเป็นของทรูในการประมูลคลื่น 2.1GHz ลดลงไปมาก และพื้นฐานของการประมูลคลื่นของบริษัททั้งสาม (หรือบริษัทอื่นๆ ถ้ามีเข้ามา) นั้นต่างออกไป ทำให้ราคาสุดท้ายอาจจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้
  3. คลื่นความถี่ที่เป็นของ กสท. ไม่ใช่คลื่นที่สามารถนำมาประมูลได้ เนื่องจากเป็นคลื่นเดิมที่ทั้ง กสท และ TOT ได้รับจัดสรรจาก กทช. ตามใบอนุญาต
    ความถี่ของ กสท. ไม่สามารถประมูลได้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่สามารถนำมาทำสัญญาให้เอกชนบางรายนำไปขายบริการต่อได้ (ซึ่งก็คือกรณีของสัญญาระหว่าง กสท. กับ ทรู กรณีที่เป็นปัญหากรณีนี้)
  4. ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่า ทรูฯ จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นย่าน 2.1 GHz ซึ่งเป็นการคาดเดาที่คลาดเคลื่อน ซึ่งทรูฯ ก็เคยกล่าวไว้แล้วว่าจะเข้าร่วมประมูล
    - คำกลาวของทรูว่าจะร่วมประมูล ไม่สามารถนำเป็นหลักประกันได้เลยว่าทรูจะเข้าร่วมประมูลจริง
    - หรือถ้าทรูเข้าร่วมประมูลจริง ระดับความต้องการคลื่นของทรูก็จะลดน้อยลง ถ้าหากทรูได้ช่วง 10MHz ของ กสท. ไปก่อนแล้ว ตามที่อธิบายไปแล้วในข้อ 4.2
5.ประเด็นของ TDRI: สัญญาดังกล่าวเป็นสัมปทานที่ต้องทำตาม พรบ. ร่วมทุนฯ
ข้อชี้แจงของ True : ในส่วนของคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรและกำกับดูแลโดย กทช. นั้น อยู่นอกข่ายของ พรบ. ร่วมทุนฯ ไม่เช่นนั้น คลื่นความถี่ทั้งหมดที่ กทช. ได้จัดสรรไปแล้วทั้งหมดจะต้องเข้า พรบ. ร่วมทุนฯ ซึ่งรวมถึงคลื่นความถี่ที่ กทช. ได้จัดสรรให้กับบริษัท กสท. และบริษัท ทีโอที ไปตั้งแต่แรกด้วย
ทรูไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจนนักว่า ความถี่จาก กทช. อยู่นอกข่ายของ พรบ. ร่วมทุนฯ ด้วยเหตุผลว่าอะไร จึงคาดเดาได้ยากว่าทรูหมายถึงอะไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำบางประเด็นมาพิจารณาได้ ดังนี้
- ความถี่ที่ กทช. จัดสรรให้กับ กสท. และทีโอที เป็นความถี่ที่ กสท. และ ทีโอที ครอบครองอยู่แต่เดิม ในช่วงที่ยังไม่มี กทช. ซึ่งจะต่างไปจากความถี่ที่ยังไม่เคยมีเจ้าของ ที่ กทช. จัดสรรให้เอกชนรายอื่น
- การได้รับจัดสรรคลื่นความถี่จาก กทช. ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรกำกับดูแล กับการทำสัญญาร่วมทุนกับ กสท. ซึ่งมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถนำมาเทียบกันได้โดยตรง
6.ประเด็นของ TDRI: นักกฎหมายที่ ทรูฯ อ้างว่าได้ตรวจสอบสัญญาล้วนเป็นนักกฎหมายที่ปรึกษาของทรูหรือธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งล้วนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือได้รับค่าตอบแทนจากทรูหรือ กสท.
ข้อชี้แจงของ True
  1. อยากจะให้ TDRI ได้ทราบว่านักกฎหมายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องคือฝ่ายกฎหมายของ กสท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมาก็ได้รักษาผลประโยชน์ของรัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งคงไม่เหมาะสมถ้าจะให้ทรูฯ พูดแทน กสท.
    - ตามหลักการแล้ว ข้อโต้แย้งของทรูเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติก็มีเหตุไม่ชอบมาพากลหลายประการ ดังที่กล่าวถึงแล้วในหัวข้อ 3.4
    - หน้าที่ตรงนี้เป็นของหน่วยงานอย่าง ปปช. และ สตง. ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายกฎหมาย กสท. ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้ว
  2. นักกฎหมายอื่นๆที่ TDRI กล่าวถึงนั้น มีหน้าที่ทั้งด้านจรรยาบรรณและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความตน ซึ่งทรูก็มีความเคารพในศักดิ์ศรีวิชาชีพของท่านทั้งหลายในการตีความกฎหมาย
    - SIU ไม่มีความเห็นในประเด็นนี้
  3. การที่ผู้เขียนมีการอ้างถึง กสท. และสำนักงานอัยการสูงสุด ทรูฯ มั่นใจว่าหน่วยงานดังกล่าวจะใช้ความรอบคอบในการพิจารณาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และเอกสารที่ผ่านออกมาจากหน่วยงานดังกล่าวนั้นผ่านขั้นตอนถูกต้องตามระเบียบของหน่วยงานดังกล่าว
    - ข้อนี้เป็นเพียงการแสดงความมั่นใจของทรู ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทางกฎหมาย
  4. ในทางกลับกันการที่ TDRI ใช้นักวิจัยผู้เป็นวิศวกรไม่ได้จบการศึกษาทางกฎหมายมาทำการวิจัยทางกฎหมายในสัญญาที่สลับซับซ้อนนั้น สอดคล้องกับ "ภารกิจหลักของ TDRI" ที่จะ "ผลิตงานวิจัยเชิงนโยบายที่มีคุณภาพสูง อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ และข้อมูลที่ถูกต้อง" หรือไม่
    - ประเด็นนี้เป็นการโจมตีไปที่วุฒิทางการศึกษาของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ซึ่งไม่ได้จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์โดยตรง- ปัจจัยด้านคุณวุฒิของนักวิจัย ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของงานวิชาการ เพราะต่อให้ TDRI ใช้นักวิจัยที่จบด้านกฎหมายโดยตรง ก็ไม่ได้แปลว่าจะผลิตงานวิจัยเชิงนโยบายที่มีคุณภาพสูงได้เสมอไปเช่นกัน
    - จริงอยู่ที่ตัว ดร. สมเกียรติ เองก็ควรถูกตรวจสอบถึงผลประโยชน์ทับซ้อนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ซึ่งเป็นไปได้ว่า ดร. สมเกียรติอาจรับประโยชน์จากคู่แข่งธุรกิจของทรู) แต่ที่ผ่านมา ดร. สมเกียรติ ก็ได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ว่ามีเจตจำนงค์ทางวิชาการ และไม่มีผลประโยชน์กับภาคธุรกิจใดๆ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ดังนั้นการโต้แย้งของทรูจึงควรเน้นที่เหตุผลสนับสนุนในทางวิชาการ มากกว่าคุณวุฒิของนักวิชาการที่ออกมาโต้แย้ง
SIU มีความเห็นอกเห็นใจกลุ่มทรู ที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจที่สัมปทาน 2G เดิมใกล้หมดอายุมากที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการทั้งสามรายใหญ่ อีกทั้งกระบวนการประมูลคลื่น 3G ของ กสทช. ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ก็ควรจะต้องมีความยุติธรรม และอยู่บนกฎกติกาเดียวกัน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ กสทช.
ทั้งนี้ SIU ขอชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอีกครั้ง โดยรัฐวิสาหกิจเดิมคือ TOT และ กสท. มี "สถานะ" ที่ไม่แน่ชัด คือเป็นทั้งบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ และมีอำนาจกำกับดูแลจากสัญญาสัมปทานเดิม ทำให้เกิดสภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ" ในการกำกับดูแลทางกิจการโทรคมนาคม อันเป็นผลของปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในรอบ 1-2 ปีหลัง
สุดท้าย SIU ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2554 โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในฐานะผู้ถือหุ้น) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที (ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบาย) ดำเนินนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐทั้งสองราย ให้อยู่ในสถานะทางการแข่งขันที่เท่าเทียมกับเอกชนรายอื่น เพื่อให้สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีความยุติธรรม เท่าเทียม แข่งขันอย่างเสรี เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมชาวไทยต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น