วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เสวนา: ‘สื่อใหม่’ ปีศาจหรือนักบุญ กลางกระแสเลือกตั้ง จุดหรือดับความรุนแรง

เสวนา: 'สื่อใหม่' ปีศาจหรือนักบุญ กลางกระแสเลือกตั้ง จุดหรือดับความรุนแรง

16 มิ.ย.54 ในการเสวนาหัวข้อ "สื่อออนไลน์ กับขอบเขตการแสดงความเห็นและการหาเสียงทางการเมือง"* 

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่าสังคมไทยเริ่มตื่นเต้นกับสื่อใหม่จริงจังน่าจะหลังจากปรากฏการณ์ที่มันมีบทบาทให้โอบามาชนะ ขณะที่ในเอเชีย พรรคอัมโนเคยครองที่นั่งเกือบทั้งหมดก็เริ่มถูกสั่นสะเทือน มีการวิเคราะห์ว่าฝ่ายค้านมีที่นั่งเพิ่มขึ้นได้จากการทำงานของสื่อออนไลน์ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่าสื่อหลัก

เวลาพูดถึงสื่อใหม่ เรามักพูดเรื่องการไร้ขอบเขต แต่พอนำเรื่องสื่อใหม่มาประกบกับการเลือกตั้ง เรากลับมุ่งพูดถึง "ขอบเขต" เหมือนการบอนไซตั้งแต่ยังไม่โต บอนไซการสร้างสรรค์สื่อใหม่ให้เป็นประโยชน์ ในต่างประเทศการใช้สื่อใหม่หาเสียง เขาไม่ได้มองสื่อในฐานะเป็นเครื่องมือ แต่เข้าใจธรรมชาติสื่อใหม่ กำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขนาดคนอายุ 18-22 ปี เพราะเคยเป็นกลุ่มเสียงเงียบในอเมริกา แต่ในบ้านเรายังไม่เห็นพรรคไหนใช้สื่อใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเพราะตัวเลขของประชากรที่ใช้สื่อใหม่อาจยังไม่มีนัยยะสำคัญที่จะตื่นเต้น

เธอยืนยันว่า สื่อใหม่มีประโยชน์ เพียงแต่พอตื่นตระหนกกับมันก็มักจะเน้นไปในทางควบคุม ทั้งที่มันเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม สร้างการถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง คนจะใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พลเมืองในพื้นที่ต่างๆ สามารถทำได้ในการติดตามและตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว

"แต่เรามัวพะวงอยู่กับเรื่องถ้อยคำที่หลั่งไหลอยู่ในช่วงนี้ โดยไม่คิดจะใช้ประโยชน์จากมัน" จีรนุชกล่าวและว่า การที่ กกต.ไม่ควบคุมนั้นเป็นเรื่องดีและน่าจะทำงานร่วมกับภาคพลเมืองในการติดตามตรวจสอบในช่วงหาเสียงด้วยซ้ำ

ผอ.ประชาไทกล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้ายคือเมื่อ 2 วันที่แล้ว ผบ.ทบ.ออกรายการทีวี ช่อง 5 และช่อง 7 แม้ไม่ได้ดูแต่ติดตามจากที่ข่าวรายงานพบว่า ท่านพูดเนื้อหาที่ดี แต่เป็นเนื้อหาดีที่ไม่ได้บอกอะไรชัดเจน ว่ากำลังหมายถึงใคร และการกระทำแบบไหน สิ่งนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน คนมีบทบาทในสังคมลุกขึ้นมาพูดดีๆ ลอยๆ ต้องยอมรับว่าผู้เล่นทางการเมืองไทยมีกองทัพเป็นผู้เล่นสำคัญ การออกมาพูดแปลว่าอะไร

"คิดว่าเราไม่ควรยอมรับ ทั้งในฐานะพลเมือง สื่อใหม่ สื่อมวลชน อาจต้องตั้งคำถามด้วยแทนที่จะเป็นลำโพงเฉยๆ เราควรจะมีบทบาทจะเรียกร้อง accountability ต่อคนพูดลอยๆ แบบนี้ ซึ่งควรเป็นบทบาทของทุกฝ่าย" จีรนุชกล่าว พร้อมทั้งเสริมประเด็น กอ.รมน. โดยระบุว่าเลือกตั้งคราวที่แล้วเป็นไปภายใต้กฎอัยการศึก คราวนี้ก็เป็นไปภายใต้ กอ.รมน. ที่ลงสำรวจในหมู่บ้านไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม ในฐานะวิญญูชนคนหนึ่ง มันเป็นการใช้รูปแบบและแบบแผนเก่าๆ ของหน่วยสื่อแบบเก่าๆ ซึ่งหวังว่าสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ หรือกระทั่งสื่อกระแสหลักจะช่วยกันตรวจสอบและติดตามหาความจริง
 

 

ปราปต์ บุนปาน จากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ กล่าวว่าพูดในฐานะคนทำเว็บไซต์ข่าวซึ่งเชื่อมโยงมาจากการเป็นสื่อหลัก แต่ต่อยอดจากประเด็นของหนังสือพิมพ์ ภายใต้ความขัดแย้งปัจจุบันเรานำเสนอความแตกต่างทางความคิดที่แตกต่าง พยายามถ่วงดุลกันให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงสื่อใหม่ในบริบทของสังคมไทยก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น คนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เราจึงไม่สามารถอนุมานได้ว่าเสียงในเน็ตจะเป็น

กระแสเสียงใหญ่สุด

ปราปต์ ยังกล่าวถึงความล้มเหลวอย่างหนึ่งของสื่อใหม่ในสังคมไทยว่า ช่วงหนึ่งเห็นว่าสื่อใหม่อย่างเว็บไซต์ เว็บบอร์ดจะเป็นพื้นที่การแสดงความเห็นกว้างขวางหลากหลายได้ แต่พื้นที่ดังกล่าวหดหายไปอย่างมีนัยยะน่าสนใจ อย่างเว็บบอร์ดประชาไทก็ต้องปิดตัว เว็บไซต์มติชนเองก็ปิดการแสดงความเห็นท้ายข่าว มีการกลั่นกรองความเห็นอย่างเข้มงวด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก เว็บบอร์ดราชดำเนินของพันทิป เมื่อก่อนก็เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนใหญ่ หลากหลาย สุดท้ายกระทู้ในราชดำเนินก็ถูกลดทอนไป ให้เหลือตั้งกระทู้ได้อย่างเดียวโดยไม่สามารถสนทนาต่อได้ ขณะเดียวกันเฟซบุ๊ก ตอนฮิตใหม่ๆ หรือมีการใช้งานทางการเมืองอย่างมากในช่วงเมษา-พฤษภา53 แต่สุดท้ายในช่วงเวลาไม่นานต่อมา พวกเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าความฝันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เฟซบุ๊กในแง่ที่ประชาชนธรรมดาจะแสดงความเห็นทางการเมืองก็ยังถูกจำกัด ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และทั้งบรรทัดฐานทางสังคมหรือล่าแม่มด นี่อาจเป็นข้อล้มเหลวใหญ่ๆ ของสื่อใหม่ในเมืองไทย ในช่วง 3-4 ปี แม้ว่าตัวเลขต่างๆ จะสูงขึ้นก็ตาม

สื่อใหม่จะเป็นจุดก่อกำเนิดขยายความเกลียดชังทางการเมืองมากขึ้นหรือเปล่า มองในฐานะปัญหาหมดเลย ไม่แน่ใจว่ามันเป็นปัญหาในตัวมันเอง หรือเป็นตัวสะท้อนว่าสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งในเชิงคุณค่าหลายอย่าง เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น ประชาธิปไตย มันอาจแค่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง มันอาจไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง

 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าการที่เรากำลังเผชิญปัญหาและแก้ไขไม่ได้ อาจเป็นเพราะกำลังใช้สำนึก (mindset) ของศตวรรษที่ 20 มาแก้ปัญหาของศตวรรษที่ 21 ถามว่ามันคืออะไร ถ้ามายเซ็ทของศตวรรษที่ 20 คือ การเซ็นเซอร์ การปกปิดข้อมูล ความเชื่อหนึ่งเดียว ท้าทายไม่ได้ มายเซ็ทของศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล การแชร์กัน พหุภาษา พหุวัฒนธรรม

โลกออนไลน์นั้นไม่แยกขาดจากโลกจริง แต่มันคือ โลกในอนาคตที่เราต้องเผชิญหน้ามันโดยที่ยังไม่รู้จะจัดการยังไง เวลาพูดว่าจะจัดการมันอย่างไร เรื่องหลักการต่างๆ เช่นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เป็นหลักการที่ควรยึดไว้และควรมีหนึ่งเดียว แต่ขณะเดียวกัน กาละ และเทศะของโลกเน็ตก็เป็นอีกแบบ จึงขอตั้งคำถามว่าการควบคุมมัน จำเป็นไหมที่ต้องคิดให้ต่างจากสื่อหลักหรือสื่อสารมวลชนในศตวรรษที่แล้ว

เมื่อโยงสู่การเลือกตั้ง ก็มีปัญหาของการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งไม่ได้เชื่อมเฉพาะช่วงเลือกตั้ง เมื่อก่อนอาจมองว่า พ.ร.บ.คอมฯ จำกัดโลกออนไลน์ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ล่าสุด มันกระทบไปถึงการรณรงค์เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษา เมื่อกลุ่มแพทย์ฟ้องร้องนักรณรงค์ที่นำข้อมูลตัวเลขบางอย่างมารณรงค์ว่าเป็นข้อมูลเท็จ ทำให้ผู้รณรงค์ต้องไปรายงานตัวที่จังหวัดสุรินทร์ตลอด หรือการที่นายจ้างฟ้องแรงงานว่าหมิ่นประมาท และยังฟ้องด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เรื่องข้อมูลเท็จริง ซึ่งท้ายที่สุดแม้นายจ้างกับลูกจ้างจะไกล่เกลี่ยกันได้แล้วปรากฏว่าความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยอมความกันไม่ได้เพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

"มันมากไปกว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ยังเลยเถิดไปถึงเสรีภาพทางการชุมนุม การรณรงค์ด้วย" อาทิตย์กล่าว

เขาเสนอด้วยว่า หน้าที่ของ กกต.ไม่ควรทำเฉพาะออกใบเหลืองใบแดง ควรส่งเสริมเสรีภาพประชาชนและทำหน้าที่ปกป้อง "ตลาดความคิด" ในสื่อใหม่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งอย่างมีเหตุมีผล พร้อมทั้งจับตาการทำลายพื้นที่เหล่านี้ เช่น กรณีเว็บมาเลเซียกินีเว็บล่มก่อนเลือกตั้งสัปดาห์เดียว เพราะจับตาเหตุไม่ชอบมาพากล
 

 

ชลรัช จิตไนธรรม ผู้ตรวจการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อต้องเสรี มีกระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงตรง มีการเลือกตั้ง และมีประชากรที่แอคทีฟ โดยเฉพาะในสังคมที่มีสื่อออนไลน์

โจทย์เรื่องการเลือกตั้ง ทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนอย่างเพียงพอโดย กกต.ก็พยายามใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้มากขึ้น ส่วนการสื่อสารในสื่อใหม่นั้น กกต.ไม่ควรควบคุม เพราะเป็นเสรีภาพทางความคิด และในความเป็นจริงก็คุมไม่ได้ด้วย เพราะเป็นสังคมไร้พรมแดน เรื่องนี้ยังไม่มีกติกาชัดเจน แต่ก็มีกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กกต.สามารถไปขอล็อกไฟล์มาตรวจสอบได้แต่ต้องได้รับการร้องเรียน
 

บุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนก็ใช้เฟซบุ๊ก แฟนเพจมีคนตามเยอะ นอกจากนี้ยังใช้ยูทูป ฟลิกเกอร์ ไลฟ์สตรีม ซื้อแบนเนอร์ ทำแอพพิเคชั่นสำหรับคนใช้ไอโฟน ซึ่งเชื่อว่ามีผลต่อการสื่อสารในการเลือกตั้ง พร้อมยกกรณีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขียนในเฟซบุ๊กก็ได้กระจายไปยังสื่อต่างๆ อย่างที่ต้องการสื่อ

ส่วนเรื่อง hate speech (การพูดที่ก่อให้เกิดการเกลียดชัง) เป็นเรื่องใหม่ อาจารย์บางท่านบอกว่าหากไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่ได้ขู่ฆ่ากันก็ไม่นับเป็น hate speech ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่ การดูหมิ่น เหยียดหยาม พูดเท็จให้คนเกลียดชังโดยเจตนาบริสุทธิ์ก็เข้าข่ายเช่นกัน

บุญยอดกล่าวถึงที่พรสันต์หยิบยกเรื่องรัฐธรรมนูญสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ก็ขอเติมว่าแต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิคนอื่น การยกป้ายขัดขวางการหาเสียง ตะโกนด่าทอ เป็นการจัดตั้ง ต้องมีการควบคุมและดูแลกันและให้ความเป็นธรรมในการหาเสียงที่จะเข้าได้ทุกที่ ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

"เรื่องเฮดสปีช ท่านยังคิดว่านิวมีเดียมีเสรีภาพมากกว่าสื่อปกติไหม หรือเราเห็นว่าทุกสื่อมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน..สื่อนิวมีเดีย มีเสรีภาพมากกว่า ด่าใครก็ได้ใช่หรือไม่ มีคนบอกเป็นนักการเมืองต้องรับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่จำเป็นต้องรับการด่าด้วยหรือ" บุญยอดกล่าวและว่า สุดท้ายสำหรับประชาชนไม่มีใครควบคุมได้ ถ้าเราไม่พยายามควบคุมตัวเอง การพูดคำหยาบคายก็เป็นเรื่องน่าละอาย ต้องมี responsibility upon the law ด้วย หวังว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่เรียกร้องความรับผิดชอบที่อยู่เหนือกฎหมายด้วย

จิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายพรรคเพื่อไทย มักถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อไพร่ เกาะกลุ่มไปที่ประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีเกินครึ่งประเทศ นโยบายจึงเป็นแบบเพื่อคนจน 80% คนมีฐานะ 20% ส่วนการใช้สื่อใหม่เราวิเคราะห์ว่าในโลกไซเบอร์ผู้ที่มีคอมพิวเตอร์เองมีประมาณ 0.8% เราจึงสื่อสารด้วยสื่อใหม่ประมาณ 10-15% ที่เหลือเราสื่อสารผ่านสื่อหลักเพื่อที่มวลชนจำนวนมากจะเข้าถึงได้ และเน้นการให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการบอกต่อมากกว่า

 

*หัวข้อย่อยในเวทีอภิปรายสาธารณะ "ความท้าทายของสื่อใหม่กับการเมืองไทยช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง" จัดโดย มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2554 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น