วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พรรคการเมืองกับภาพลวงตาทางการคลัง




รรคการเมืองกับภาพลวงตาทางการคลัง

วีระศักดิ์ เครือเทพ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2554

 

”A leader takes people where they want to go. A great leader takes people where they don’t necessarily want to go, but ought to be.”

Rosalynn Carter

 

“คนเป็นผู้นำจะพาผู้คนไปยังที่ที่พวกเขาต้องการ คนเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่พาผู้คนไปยังที่พวกเขาอาจยังไม่ต้องการไป หากแต่ที่นั้นจำต้องไป”

โรซาลิน คาร์เตอร์

 

เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะเริ่มขึ้น พรรคการเมืองต่างๆ พยายามหาคะแนนเสียงโดยการนำเสนอนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาวะ ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ พรรคการเมืองเหล่านี้พยายามคิดค้นและนำเสนอนโยบายที่เป็นที่ถูกใจของประชาชน แต่เราจะรู้หรือไม่ว่านโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองนำเสนอไว้นั้น เป็นนโยบายที่ทำได้จริงและเป็นที่ต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิได้เป็นเพียงแค่ “นโยบายขายฝัน” หรือมี “ผลประโยชน์ส่วนตน” เข้ามาแอบแฝง?

ยกตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองอาจเสนอให้มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ในกรณีเช่นนี้ เราทราบหรือไม่ว่าการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด? รัฐจะต้องหาเงินงบประมาณจากที่ใดเพื่อมาชดเชยการสูญเสียรายได้ดังกล่าว? หรือว่ารัฐจะต้องกู้หนี้ยืมสินมากขึ้นหรือต้องลดบริการสาธารณะในด้านอื่นๆ ลงในอนาคต? เป็นที่น่าเสียดายว่าพรรคการเมืองต่างๆ มักจะไม่นำเสนอข้อมูลที่รอบด้านเช่นนี้แก่ประชาชนเพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าถ้าหากได้ให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวไปแล้วนั้น จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมมากกว่ากัน

หรือในอีกกรณีหนึ่ง พรรคการเมืองอาจมีนโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน หรือเสนอนโยบายประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร ฯลฯ ในฐานะที่เป็นประชาชนผู้มีสิทธิ์มีเสียงคนหนึ่ง เราเคยซักถามพรรคการเมืองเหล่านี้หรือไม่ว่าจะมีมาตรการดำเนินการอย่างไรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ และสามารถกระจายประโยชน์สู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม อีกทั้งเป็นมาตรการที่มิได้มีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงหรือนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

เพราะขนาดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ การแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มยังเกิดขึ้นอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และกินเวลานานหลายเดือน อีกทั้งรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาทไปเพื่อพยุงราคาน้ำมันปาล์มดังกล่าว จวบจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเงินภาษีของประชาชนไปตกอยู่ในกระเป๋าของเหล่านายทุนมากน้อยเพียงใด และยิ่งถ้าหากเราต้องฝากอนาคตของชาติบ้านเมืองไว้กับพรรคการเมืองที่เก่งแต่เพียงการขายฝัน แต่ทว่าไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมแล้ว เราอาจจะต้องสูญเสียงบประมาณของรัฐอีกเป็นจานวนมหาศาล วันดีคืนดีเมื่อเรานอนตื่นขึ้นมา รัฐบาลอาจทิ้งภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นให้กับพวกเราโดยไม่รู้ตัว!

สภาวการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ในทางวิชาการเรียกว่า “ภาพลวงตาทางการคลัง” หรือ Fiscal Illusion พรรคการเมืองต่างๆ จะพยายามนำเสนอเฉพาะด้านดีของนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมองเห็นว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง 1, 2, 3, 4, 5…. อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองจะไม่นิยมนำเสนอถึงผลทางด้านลบจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว อาทิ จะไม่บอกว่านโยบายเหล่านั้นมีราคาแพงหรือต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้น หรือจะพยายามไม่บอกว่ารัฐบาลมีภาระหนี้หมกเม็ดไว้เท่าใด เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะพรรคการเมืองต่างก็ต้องการคะแนนเสียงสนับสนุนที่มากที่สุดนั่นเอง

ผลจากการมีภาพลวงตาทางการคลังนี้ทำให้ประชาชนถูกมอมเมาให้เสพติดนโยบายประชานิยมได้โดยง่ายดาย ดังเช่นในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยเสียภาษีทุกประเภทให้กับรัฐโดยเฉลี่ย 21,133.9 บาท ในขณะที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดบริการด้านต่างๆ กลับคืนมาเป็นเงิน 26,613.1 บาทต่อประชากร ประชาชนอาจมองเห็นว่ามีกำไรสุทธิเหนือรัฐบาลเป็นเงินราว 5 พันกว่าบาท ก็จะนิยมชมชอบพรรคการเมืองที่ชูนโยบายลดภาษีควบคู่ไปกับการเพิ่มบริการให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ภาพลวงตานี้ทำให้พวกเราไม่เคยตั้งคาถามกับรัฐบาลว่าจะนำเงินจากที่ใดมาชดเชยส่วนต่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่เรามองข้ามไปก็คือรัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้ทิ้งภาระหนี้ให้กับพวกเราสูงถึง 66,231.4 บาทต่อคน

ใครที่ตามไม่ทันบรรดาพรรคการเมืองที่พยายามสร้างภาพลวงตานี้ ก็จะมองเห็นเฉพาะประโยชน์ในด้านบวกของนโยบายพรรคการเมืองนั้นๆ และจะเทคะแนนเสียงให้ เพราะต่างคิดว่าพรรคการเมืองนั้นใจกว้าง นำนโยบายดีๆ มาแจกให้ฟรีๆ ตลอดเวลา กลายเป็นผู้ที่เสพติดนโยบายขายฝันกันอย่างเต็มตัวไปโดยปริยาย กว่าที่จะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็ตอนที่พรรคการเมืองนั้นๆ ได้เป็นรัฐบาลสมความคาดหมาย แต่ว่าไม่ดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ และมักจะมีข้อแก้ตัวในภายหลังว่า “ไม่มีงบประมาณ” หรือ “มีภาระหนี้สูงมากเกินไปแล้ว” หรืออาจด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดประการ

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พรรคการเมืองเหล่านี้พอได้เป็นรัฐบาล ก็อาจเลือกดำเนินนโยบายที่มุ่ง “ผันเงินงบประมาณของรัฐเข้ากระเป๋าตนเองหรือพวกพ้อง” เป็นการเฉพาะ และปล่อยให้การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องรอง แน่นอนว่าเราคงไม่ต้องการตกเป็นเบี้ยล่างให้กับพรรคการเมืองเหล่านี้ใช้เป็นทางผ่านไปสู่อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองได้ตามอำเภอใจ โดยที่พวกเราไม่ทำอะไรเลย

ในฐานะที่เราท่านเป็นประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ควรจะทำอย่างไรเพื่อให้รู้เท่าทันต่อพรรคการเมืองเหล่านี้? ข้อเสนอแนะก็คือเราจะต้องเป็นประชาชนที่รู้ทัน มีสติ และไม่เสพติดนโยบายขายฝัน โดยจะต้องพินิจพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างถ่องแท้ก่อนที่จะลงคะแนนเสียงให้ว่าเป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการได้จริง มิได้มีข้อจำกัดในด้านกฎหมายหรือด้านงบประมาณ หรือก่อให้เกิดภาระภาษีอากรหรือภาระหนี้สินในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินควร

ถึงเวลาแล้วที่เราประชาชนคนไทยจะต้องกล้าตั้งคำถามท้าทายในเชิงนโยบายต่อบรรดาพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเหล่านี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนและเป็นนโยบายที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง หากเราปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ พากันนำเสนอนโยบายประชานิยมแบบลด แลก แจก แถม โดยมิได้สนใจว่าจะทำให้รัฐเป็นหนี้มากขึ้นเท่าใดแล้วนั้น ลูกหลานของพวกเราเองนั่นแหล่ะที่จะต้องแบกรับผลกรรมของความโลภและความเพิกเฉยของคนรุ่นเราในปัจจุบัน

http://www.siamintelligence.com/political-parties-public-policy-and-fiscal-illusion/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น