วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเมืองร้อน โซเชียลเน็ตเวิร์ก "แรง" หนุนคนไทยใช้ "เฟซบุ๊ก" แตะ 10 ล้านคน



การเมืองร้อน โซเชียลเน็ตเวิร์ก "แรง" หนุนคนไทยใช้ "เฟซบุ๊ก" แตะ 10 ล้านคน



ความแรงของ "โซเชียล เน็ตเวิร์ก" โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เข้ามามีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งเวลาเข้านอน 

ถือว่าเป็นสื่อใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลและพลังในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่สูงมาก และอาจเรียกว่านิวมีเดียนี้ได้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ทำให้ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่าย หรือสร้างกระแสในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม หรือภาคธุรกิจ เพราะถือว่าเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นอน

โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกประมาณ 686 ล้านคน ประเทศที่มีผู้ใช้มากอันดับหนึ่ง แน่นอนว่าคือสหรัฐอเมริกา ประมาณ 149.36 ล้านคน อันดับสองคืออินโดนีเซีย 37.86 ล้านคน ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ที่อันดับ 18 จำนวนผู้ใช้ 9.8 ล้านคน โดยอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 49.24% ด้วยอัตราการเติบโตแบบนี้ถึงสิ้นปี ไม่รู้ว่าคนใช้เฟซบุ๊กจะพุ่งไปถึงเท่าไหร่ 

คนไทยใช้เฟซบุ๊ก 9.8 ล้านคน

สำหรับกระแส "เฟซบุ๊ก" ในเมืองไทย มีการเติบโตอย่างรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีประเด็นร้อนทางการเมืองเป็นตัวจุดกระแสที่มาพร้อม ๆ กับการเติบโตของสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้โซเชียลมีเดีย 

จากเมื่อต้นปี 2553 มีคนใช้เฟซบุ๊ก อยู่แค่ 2 ล้านคน แต่หลังจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงเดือน พ.ค. 2553 และมีการใช้เครือข่ายสังคมแห่งนี้แสดงจุดยืน หรือทำกิจกรรมเพื่อแสดงพลัง เช่น กลุ่มแนวร่วมคนรักชาติ กลุ่มต่อต้านการยุบสภา เป็นต้น 



ทำให้การเติบโตของคนใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบ 2-3 เท่าตัว โดย ณ สิ้นปี 2553 ก็มีคนไทยใช้เฟซบุ๊กอยู่ที่ 6.73 ล้านคน คิดเป็น 10.14% ของจำนวนประชากร

และการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ยังแรงอย่างต่อเนื่องจนเรียกว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของหลายคนไปแล้ว ทำให้ ณ เวลานี้จำนวนคนไทยใช้เฟซบุ๊กพุ่งถึง 9.8 ล้านคน หรือ 14.79% ของประชากรไทย ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก 

ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนคน 

และจากข้อมูลของ "socialbakers" กลุ่มผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกเฟซบุ๊ก กระจาย อยู่ในทุกเพศทุกวัย โดยกลุ่มที่เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กมากที่สุดคือ 18-24 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ช่วงอายุ 25-34 ปี สัดส่วน 31% ช่วงอายุ 35-44 ปี มีสัดส่วน 10% เท่ากับช่วงอายุ 13-15 ปี ขณะที่ช่วงอายุ 45-54 ปี มีสัดส่วน 4% อายุ 55-64 ปี สัดส่วน 1% และมากกว่า 65 ปี จำนวน 1%

สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของโซเชียลเน็ตเวิร์กแห่งนี้ว่ามีอำนาจในการเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย

ขณะที่ "เฟซบุ๊ก" ขยายบทบาทจากที่เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อสารระหว่างกลุ่มเพื่อนก็กำลังเพิ่มบทบาทการเป็นเครื่องมือทางธุรกิจสำคัญที่สามารถทะลุทะลวงเข้าถึงกลุ่ม เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทำให้วันนี้มีองค์กรธุรกิจต่างโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่าง ๆ ทำให้มีองค์กรธุรกิจใหญ่จำนวนมากเพิ่มน้ำหนักกับการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์กในการเข้าหาลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม

โซเชียลเน็ตเวิร์ก..บนเวทีหาเสียง

สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งของประเทศไทยครั้งนี้ (3 ก.ค.) ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูในแง่ของการเอาจริงเอาจังกับการใช้สื่อใหม่บนโลกออนไลน์นั้น ต้องบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อหาเสียงมากกว่าพรรค เพื่อไทย นอกจากจะมีการเปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ของนักการเมืองแกนนำในพรรคทั้งหลายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายกรณ์ จาติกวณิช, นาย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ถือว่าเป็นแกนนำพรรค ปชป.ที่มีแฟนในเฟซบุ๊ก และผู้ตาม (follwers) บนทวิตเตอร์จำนวนมาก

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังเปิดตัวแอปฯบนไอโฟนไอแพดให้ประชาชนดาวน์โหลดมาไว้ในอุปกรณ์พกพา เพื่อติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด 

เหตุผลก็เพราะว่ากลุ่มผู้สนับสนุนหรือแฟนคลับของ ปชป.นั้นจะเป็นคนเมืองมากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหรือแฟน ๆ ของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มฐานเสียงต่างจังหวัด ดังนั้น การเลือกใช้สื่อก็ต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายด้วย

ดังนั้น แม้ว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เป็นน้องสาวของอดีตเจ้าของบริษัทยักษ์มือถือของเมืองไทย แถมตัวเองก็เคยนั่งเป็นผู้บริหารเอไอเอส (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) แต่ไม่ได้เลือกใช้สื่อใหม่เข้ามาเป็นตัวชูโรง เพราะกลุ่มเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์ หรืออยู่ แต่ก็ไม่มาก

เห็นได้จากกรณีทวิตเตอร์ของนายกฯอภิสิทธิ์ @PM_Abhisit ที่มีคนตามอยู่ที่ 202,484 คน ขณะที่ @ThaksinLive มีคนตามอยู่ที่ 189,896 คน ไม่ใช่ว่าแฟนของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) น้อย เพียงแต่ว่าแฟนของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ชูธงการใช้โซเชียลมีเดียมากเท่ากับพรรคประชาปัตย์ 

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นสื่อสำคัญในเรื่องการเมือง และตั้งใจให้เป็นสื่อกระแสหลักในการหาเสียงของพรรค เพราะต้องการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือคนวัยรุ่น ที่มีอายุ 18 ปี ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก และกลุ่มวัยทำงานที่เบื่อหน่ายการเมือง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้น การที่พรรคใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารนโยบายของพรรคให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ 

อย่างไรก็ตาม โซเชียลเน็ตเวิร์กที่กลายเป็นสื่อใหม่เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก เพียงแต่ว่าข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ส่งไปถึงผู้รับนั้นโดนใจ และมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน 

ขณะที่ นายปรเมศว์ มินศิริ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ในประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า การใช้โซเชียล มีเดียมีมากขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเป็นการใช้เพื่อแสดงความคิดเห็น และรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคการเมือง หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อ "สื่อความข้างเดียว" แทนที่จะใช้ความเป็น "ชุมชน" ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สำหรับชุมชนอย่างเต็มที่


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1307514807&grpid=02&catid=06

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น