วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปิดใจ "สุภิญญา กลางณรงค์"เอ็นจีโอสายแข็ง ว่าที่ "กสทช."?

เปิดใจ "สุภิญญา กลางณรงค์"เอ็นจีโอสายแข็ง ว่าที่ "กสทช."?



 

 

"สุภิญญา กลางณรงค์" 1 ใน 22 กสทช. (บัญชี 2) แม้จะโดนต่อว่าต่อขานจากเพื่อนพี่น้องในแวดวงเอ็นจีโออยู่บ้าง เมื่อมีรายชื่ออยู่ในผู้สมัครชิงเก้าอี้ "กสทช." ด้วยทั้งที่เคยเอ่ยปากว่าจะไม่สมัคร 

พลันที่มีชื่อในฐานะผู้สมัคร ต้องยอมรับว่า "สุภิญญา" จัดอยู่ในกลุ่ม "เอ็นจีโอ" สายแข็งที่มีโอกาสติดโผมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งด้วยชื่อเสียงและผลงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสื่อ การมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายคลื่นความถี่ตั้งแต่ยุคแรก ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าในขณะนั้นยังละอ่อนมาก 

หรือกับกรณีครึกโครมเมื่อ "กลุ่มชินคอร์ป" เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายมูลค่าถึง 400 ล้านบาท ! 

แม้ศาลจะพิพากษา "ยกฟ้อง" แต่การต่อสู้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาถึงไม่โดดเดี่ยวเพราะมีเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวิชาการ เอ็นจีโอ และเครือข่ายภาคประชาชนหนุนเต็มที่ การตกเป็น "จำเลย" ทั้งคดีแพ่งและอาญาย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง

 

"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "สุภิญญา" หลากหลายแง่มุมกับความท้าทายล่าสุดที่เลือกเอง เมื่อตัดสินใจเสนอตัวสมัครเป็น "กสทช." ดังต่อไปนี้

 

///ตัดสินใจนานไหมว่าจะสมัคร


2 วีกสุดท้าย แต่ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เรียนจบทำงานสื่อที่ป่าใหญ่ครีเอชั่น ทำปีเดียวรายการโดนถอดจากผังช่อง 11 ก็ย้ายไปช่อง 3 ทำสารคดีเยาวชนก็โดนปรับออกอีก เพื่อนทำเอ็นจีโออยู่ชวนไปทำด้วยที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (อสม.) เขาอยากได้คนที่ทำงานสื่อเป็นเพื่อไปช่วยผลิตสื่อให้ เราก็ไปทำรายการวิทยุ ตัดต่อสไลด์อะไรต่าง ๆ ทำไปก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ 

ปี 2540 มีกระแสปฏิรูปการเมือง เอ็นจีโอกำลังบูม มีการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำเรื่องรัฐธรรมนูญ มีมาตรา 40 กระทบใจ คิดว่าน่าจะทำตรงนี้เลยสนใจศึกษา ไปเรียนโทที่ธรรมศาสตร์ เริ่มเก็บไอเดีย จากแค่คิดว่าทำสื่อดี ๆ ก็พอแล้ว ก็เริ่มเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างว่าเพราะรัฐเป็นเจ้าของจึงผูกขาด เกิดแรงบันดาลใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นโอกาสที่ทำให้เราปรับปรุงตรงนี้ได้

ทำปฏิรูปสื่อมาตั้งแต่นั้น เรายังเด็ก ก็มีพี่ ๆ คอยแนะนำได้โอกาสทำงาน มีการตั้งคณะทำงานติดตามมาตรา 40 เริ่มไปร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ยุคแรก ตอนนั้นยังเด็กมากไม่มีตัวตนอะไร แค่ไปช่วยอาจารย์หลายท่าน ไปยกป้าย ไปประท้วง ไปชุมนุม ติดตามการร่าง กม.ที่สภาทุกอาทิตย์ 6 เดือนไปทุกครั้ง ก็ได้แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดนั้น 

วาทกรรมตอนนั้นคือ อยากมีพื้นที่สื่อภาคประชาชน 20% เราตามมาก ๆ ก็เริ่มจับประเด็นได้ เริ่มให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์หลัง กม.ผ่านปี 2543 มีเรื่อง กสช.รอบแรก เอ็นจีโอตั้งแคมป์สู้กับทุกฝ่าย เราก็ช่วยเบื้องหลัง เอ็นจีโอก็ส่งคนสมัคร สู้หลายกลุ่มกับกองทัพที่บอกว่าเป็นการทุบหม้อข้าว สู้กับแกรมมี่ฯ กับเจเอสแอล เถียงกันแรงมาก เขามองว่าเอ็นจีโอจะเข้ามายึดคลื่น ไม่เข้าใจธุรกิจ

เป็นการต่อสู้กันทางความคิด กองทัพก็กลัว ธุรกิจก็กลัว กระแสเอ็นจีโอก็แรง สรรหา กสช.ช่วงแรกมีฟ้องศาลปกครองว่า กระบวนการสรรหากรรมการมีสายสัมพันธ์กับผู้สมัคร ศาลตัดสินโมฆะรอบแรก มารอบ 2 ไม่ได้ทำอะไรเพราะอยากให้เกิด แต่มีคนฟ้องอีกจนโมฆะรอบ 2 กระทั่งรัฐประหารเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทำให้ กสช.ไม่เกิด เปลี่ยนเป็น กสทช. เอ็นจีโอก็แผ่วไป เพราะเปลี่ยนเป้าไปสู้กับคุณทักษิณ 

ตัวเองช่วงปี 2544-2545 เริ่มไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโทรคมนาคม เรื่องชิน คอร์ปอเรชั่น เรื่องแปรสัญญาโทรคมนาคม

 

///มาจับงานด้านโทรคมนาคมได้ไง

 

เพราะทำเรื่องปฏิรูปสื่อ คุณทักษิณเป็นนายกฯที่เป็นเจ้าของทีวีและดาวเทียม เราเริ่มมองว่าบริษัทที่เป็นเจ้าของมือถือเป็นเจ้าของทีวีด้วย ในเชิงหลักการควรหรือไม่ควร เอ็นจีโอเริ่มวิจารณ์เรื่องแปรสัญญาโทรคมนาคม  

โทรคมนาคมเป็นพื้นฐานสำคัญของสารสนเทศ สมัยคุณทักษิณพูดเรื่อง 3 จีแล้ว แต่เราทำงานกับเอ็นจีโอไม่อินกับเทคโนโลยี เอ็นจีโอค่อนข้างตั้งคำถามกับการพัฒนาแบบทุนนิยม มองว่าทำให้เกิดปัญหา ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องรีบมี 3 จี จนทำงานมาเรื่อย ๆ 2 ปีหลังเริ่มทำเรื่องอินเทอร์เน็ต ความคิดเริ่มเปลี่ยน

ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน แต่เข้าใจ 2 มุม เอ็นจีโอห่วงเด็กและเยาวชน มองอินเทอร์เน็ตในมุมของความกังวล แต่เราได้ใช้ทำงานมากขึ้นคิดว่าเป็นโอกาสในการพัฒนามากกว่า ทำให้สนใจโทรคมนาคมมากขึ้น เพราะเป็นพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต

ที่ตัดสินใจลงสมัครกสทช.และเลือกด้านวิทยุโทรทัศน์ เพราะอยากทำเรื่องคอนเทนต์
 
///มุมมองกับเทคโนโลยีต่างจากสมัยเอ็นจีโอ
 
มองเทคโนโลยีในมุมบวกมากขึ้น แต่ไม่ได้ทิ้งฐานเดิมของตัวเองที่เป็นเอ็นจีโอ เชื่อในการกำกับดูแลแต่ไม่เชื่อในการเซ็นเซอร์แบบรัฐ ไม่เชื่อว่าจะเสรี 100% ต้องตรงกลาง ก็ถามตัวเองว่าสนใจ regulation และ policy จึงตัดสินใจสมัคร คิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบ ในการออกแบบกติกาที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน ถ้ารัฐจะปิดเว็บไม่ใช่ปิดไม่ได้ แต่จะมีกระบวนการอย่างไร 1-10

 

///ทำไมใช้เวลาตัดสินใจ 2 วีก

 

ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิด คนถามเยอะว่าทำไมทำเรื่องนี้ กลัวคนว่า ๆ ทำเพราะอยากเป็น จึงบอกมาตลอดว่าไม่สมัคร จน 2 วีกสุดท้ายกลุ่มเอ็นจีโอเชียร์ให้สมัครเพราะอยากมีตัวเลือก อยากส่งคนที่คิดว่ามีคุณสมบัติพอจะแข่งได้ ซึ่งไม่ใช่เราคนเดียว เราลงวิทยุโทรทัศน์เพราะเอ็นจีโอที่ทำเรื่องนี้มีน้อย การตัดสินใจสุดท้ายคือเราเอง แม้จะมีจุดอ่อนที่เด็ก แต่ทำงานตรงนี้มานาน ถามตนเองว่าอยากทำไหมถ้ามีโอกาส เกิด passion ถ้าได้ทำในสิ่งที่พูดมา 15-16 ปีก็ดี 
แต่ตัดสินใจนาน เพราะรู้ว่าต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์
 
///ทำเอ็นจีโอมาไม่น่ากลัวโดนวิจารณ์

 

ยอมรับว่าแคร์ภาพลักษณ์ตัวเอง พยายามรักษาไม่ได้ด่างพร้อย ช่วงสู้คุณทักษิณแรง ๆ ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือใครไหม เป็นเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติหรือเปล่า โดนตลอด แต่เรื่องนี้เขินเพราะเคยเขียนในเฟซบุ๊กว่าจะไม่สมัคร คนมาถามก็ยอมรับว่าเคยพูด ก็ตะขิดตะขวงใจ แต่อย่างที่บอกว่ายอมรับเรื่องผิดมารยาทที่เคยพูดว่าจะไม่สมัครแล้วสมัคร แต่ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาอื่น เช่น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เอ็นจีโอไปล็อบบี้ กม.เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่ประเด็นที่ไปล็อบบี้จะได้ เราแค่ขั้นกรรมาธิการ คนตัดสินใจสุดท้ายคือ สภา วุฒิสภา ก็มาแก้อีก

เรื่องอายุสนับสนุน 30-65 ปี คนยังแซวว่าอยากเป็นเอง เพราะอายุไม่ถึง แต่จริง ๆ เกิน 35 แค่อยากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ให้เด็กไปคานกับคนมีอายุบ้าง

 

///ช่วงหลังทำงานกับ กทช.เยอะ

 

เป็นอนุกรรมการแสดงความคิดเห็นแล้วก็กลับบ้าน แค่ช่วยคิด ถ้าเป็น กสทช.ต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ แอบเครียดเหมือนกัน คนคาดหวังสูงกับ กสทช.

ฝั่งโทรคมนาคมก็จะถามว่าเมื่อไรมี 3 จี เมื่อไรราคาถูก คุณภาพดี ถ้าวิทยุโทรทัศน์ ก็เรื่องวิทยุชุมชน 8 พันกว่าแห่ง เมื่อไรจะมีการกำกับดูแล หรือเคเบิลทีวีก็อยู่บนเขาควายความขัดแย้ง เป็นงานเผือกร้อน 

ก็ไม่รู้ กสทช.จะได้เกิดไหม ถ้าเกิดจะได้ทำงานนานแค่ไหน เพราะการเมืองไม่เสถียร แต่จะรอให้ทุกอย่างดีแล้วค่อยก้าวไปคงไม่ใช่ เราผลักดันงานด้านนี้มา 15 ปี เชื่อว่า กสทช.จะเป็นพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ชุดนี้เป็นชุดแรกในการวางรากฐานสำคัญ 

กสทช.เป็นจุดตั้งต้น ถ้าสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบมืออาชีพ จะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสื่อได้มาก และเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง civil society และภาครัฐ อยู่ในจุดที่ต้องบริหารคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของรัฐ และปกป้องประโยชน์สาธารณะ อยู่ตรงกลางที่ต้องต่อรองกับกลุ่มทุนและหน่วยงานรัฐ เป็นปากเสียงให้ประชาชน
 
///ถ้าเป็น กสทช.ตั้งใจจะทำอะไรเป็นพิเศษ

จะขอดูวิทยุชุมชนเป็นเรื่องที่คนปวดหัวมาก และรอการแก้ปัญหา เป็นเรื่องยากและท้าทาย อยากทำเพราะมีส่วนผูกปมเชียร์ให้มีวิทยุชุมชน ตอนนี้เชียร์ เป็นสิทธิ เป็นความงดงามที่มีการกระจายอำนาจ 8 พันสถานี แต่เห็นปัญหาว่ามีหลายอย่างซ่อนซุกอยู่ ถ้าไม่จัดการจะเป็นระบบมาเฟียใหม่   
  
///เรื่องคอนเทนต์ด้วย
 
คอนเซ็ปต์ในการกำกับดูแลที่ต้องเถียงกันในอนาคตคือ จะมีการมอนิเตอร์หรือปล่อยไปก่อน เมื่อมีคนร้องเรียนจึงเข้าไปดู พ.ร.บ.กสทช.ใหม่บอกว่าต้องแก้ไขเรื่องร้องเรียนใน 15 วัน ทำไม่ได้โดนฟ้องได้ 2 หมื่นชื่อก็ถอดถอนได้ ความรับผิดชอบมากขึ้น 

การเซตมาตรฐานการจัดการคอนเทนต์จะเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตด้วย กสทช.ไม่ได้ดูอินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่เทคโนโลยีคอนเวอร์เจนซ์กันทำให้ใช้เน็ตผ่านมือถือได้ 

สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญ มีการต่อสู้ทางความคิด 2 แนว ฝ่ายเสรีนิยมเปิดกว้างคิดว่าสังคมไทยควรเปิดได้แล้ว พูดเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกกลุ่มคือ อนุรักษนิยม มองสังคมไทยว่าเละเทะเหลวแหลก มีการต่อสู้ทางความคิดสูงมาก รัฐอยู่ตรงกลางเหมือนเอียงไปทางอนุรักษ์เพื่อให้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ 

ตนไม่ใช่คนคอนเซอร์เวทีฟแน่ แต่ก็ไม่ใช่เสรีหรือก้าวหน้ามากขนาดนั้น เข้าใจทั้งสองกลุ่ม เป็นคนที่เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกว่าคือกลไกในการรักษาสังคมประชาธิปไตย ทำให้สังคมลดความขัดแย้งได้ การพูดการแสดงออกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ายิ่งไปห้ามจะทำให้เกิดการต่อต้าน เรื่องละเอียดอ่อน เช่น การใช้ กม.คอมพ์ การปิดวิทยุชุมชน ถ้าได้ทำจะเชิญทุกกลุ่มมาหารือ ทั้งแอ็กทิวิสต์เอ็นจีโอ ทั้งเหลือง-แดงที่มีความคิดก้าวหน้า ฝ่ายรัฐและทหาร โดย กสทช.จะดึงทุกกลุ่มมาหารือร่วมกัน 
 
///มีภารกิจท้าทายมากมายมหาศาล
 
เหมือน 3 จีไม่รู้จะสะดุดเมื่อไร เหมือนวิทยุชุมชนกว่าจะได้เริ่มก็สะสมเป็นปัญหา ได้เป็น กสทช.หรือไม่ได้ไม่เป็นไร ขอให้มี กสทช.ได้ทำงาน

 

//เคยผ่านคดี 400 ล้านมาแล้ว

ก็ใช่ ยังจำตอนที่ได้หมายศาลสอดใต้ประตูที่คอนโดฯฟ้อง 400 ล้านบาท ร้องไห้เลย คือช็อก อันนั้นหนักกว่านี้ แต่พอโดนวิจารณ์จากเพื่อนกัน เอ จากคนรู้จักก็รู้สึก รู้ว่าเขาไม่อยากให้เราเสียภาพลักษณ์ก็เข้าใจ แต่ก็คิดว่านี่คือเป้าหมายที่อยากทำ ที่สำคัญเราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจอยู่ที่วุฒิสภา เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง

 

///ย้อนกลับไปช่วงโดนฟ้องตอนนั้นหน่อยว่าเป็นอย่างไร

 

เครียดมากเพราะไม่รู้ว่าสู้กับใคร คนฟ้องเราไม่เคยเจอ มีแต่ทนาย เพราะเขาเป็นบริษัทใหญ่ เหมือนสู้กับอะไรที่เป็นนามธรรม เราเป็นบุคคลมีหัวใจ เขาเป็นบริษัท แต่ข้อดีคือมีคนมาช่วยเยอะ มีหน่วยงาน มีองค์กรต่างประเทศ มีคนบริจาค มีเงินไปจ้างทนาย ไม่โดดเดี่ยว แต่ผลพวงคือเครียด ครุ่นคิดทุกวัน กลายเป็นคนจิตตก มีผลต่อความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง เป็นเรื่องจิตใจมากกว่าที่ต้องแบกรับ 

///เป็นบทเรียนอะไร

 

ใช่ก็ได้บทเรียนมาก ก่อนหน้านี้จะค่อนข้างแรง ด้วยวัยอายุ 20 กว่า ๆ

สู้กับแกรมมี่ฯ เถียงกับอากู๋ กับคุณจำนรรค์ เจเอสแอล คนก็มองว่าเราแรง จากนั้นก็มาเรื่องชินฯ เนื้อหาท่าทีอะไรต่าง ๆ ก็แรง

 

โดนฟ้องเหมือนโดนสั่งสอน ไม่ใช่ไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ แต่ต้องขึ้นศาลเหนื่อยทำให้เกร็ง ทุกวันนี้พูดอะไรไตร่ตรอง ไม่ใช่ไม่พูด แต่ระวังตัวมากขึ้น ผ่านการต่อสู้ขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้ว ไม่สนุก ทำให้แรงน้อยลง คุยกับคนอื่นเข้าใจมากขึ้น

 

เมื่อก่อนวิจารณ์อย่างเดียวไม่เคยคิดคุยกับใคร พอโตขึ้นได้ทำงานในกรรมการในชุดต่าง ๆ ก็ปรับบทบาทจากวิจารณ์ข้างนอกอย่างเดียวมาเจรจาในที่ประชุม มีทักษะในการล็อบบี้ ฟังคนอื่น ปรับดีกรีลง แต่รักษาจุดยืนเดิม มีเทคนิคมากขึ้น พูดยังไงไม่ให้โดนฟ้อง แต่ถ้าสุดท้ายพูดในสิ่งที่ถูกต้องแล้วโดนฟ้องก็พร้อมสู้


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1306982422&grpid=02&catid=06&subcatid=0600



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น