วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมาชิก สป.ร้องสอบประธานฯ จัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส




สมาชิก สป.ร้องสอบประธานฯ จัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์29 มิถุนายน 2554 16:26 น.

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา รับมอบเอกสาร จาก นายชาญยุทธ์ เจนธัญญารักษ์ กล่าวโทษพบปัญหาความไม่โปร่งใสและไม่ชอบด้วยกฎหมายของ นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวเยาวลักษณ์ สุขวิวัฒนพร ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ ( 28 มิ.ย. 54 )

สมาชิก สป.ร้องทุกข์กล่าวโทษประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อคณะกรรมาธิการ 2 คณะของวุฒิสภา สภาหอการค้าไทย ป.ป.ช. และ สตง.พบจัดซื้อจัดจ้างโครงการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่โปร่งใสและไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
      
       วันที่ 28 มิถุนายน 2554 นายชาญยุทธ์ เจนธัญญารักษ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ อีก 3 คนเปิดเผยว่า คณะทั้ง 4 คนได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ น.ส.เยาวลักษณ์ สุขวิวัฒนพร ถึงการกระทำไม่โปร่งใส ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้ยื่นต่อ 5 หน่วยงาน คือ คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา สภาหอการค้าไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
      
       โดยที่ในปัจจุบันทุกภาคส่วนของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรณรงค์ต่อต้านและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนในอนาคต ในส่วนของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดกลับพบปัญหาความไม่ชอบมาพากลไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการศึกษาและสำรวจความคิดเห็นในประเด็นเชิงนโยบาย หรือเชิงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 3,000,000 บาท ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทางราชการ ดังนั้น ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ตลอดจนดำเนินคดีกับบุคคลที่สร้างความเสียหายต่อทางราชการต่อไป
      
       ทั้งนี้ วันที่ 29 กันยายน 2553 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ โดย น.ส.เยาวลักษณ์ สุขวิวัฒนพร ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการฯ ดังกล่าว โดยใช้วิธีตกลงแทนวิธีคัดเลือกหรือประกวดราคา ทั้งที่การจัดจ้างที่ปรึกษากรณีดังกล่าวเกินวงเงิน 100,000 บาท แต่ได้ทำการจัดจ้างโดยใช้วิธีตกลง โดยไม่ใช้วิธีคัดเลือก ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าการจัดจ้างในครั้งนี้เป็นการจัดจ้างที่ต้องกระทำเป็นการเร่งด่วน หากล่าช้าจะเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับเมื่อตรวจสอบผู้รับจ้างแล้วก็ไม่พบว่ามีความสามารถหรือเชี่ยวชาญในการทำงานนี้ มีจำนวนจำกัดแต่เพียงผู้เดียวหรือมีความชำนาญมากกว่าหน่วยงานหรือสถาบันอื่นๆ เป็นพิเศษ เท่าที่ตรวจสอบได้ พบแต่สาขาที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการคลัง ด้านอุตสาหกรรมและ Water Supply and Sanitation Sector เท่านั้น ดังนั้นการจัดจ้างโดยวิธีตกลงในครั้งนี้ จึงเป็นการจัดจ้างอย่างไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่มีผู้แข่งขันรายอื่นเพื่อให้ทางราชการพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการสูงสุด การจัดจ้างโดยใช้วิธีตกลงจึงไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
      
       นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ เท่าที่ตรวจสอบได้ยังตรวจสอบพบด้วยว่า นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้รับจ้าง โดยเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยดังกล่าว และขณะเดียวกัน นายโอกาส เตพละกุล ก็ยังเป็น กรรมการบริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด ซึ่งได้ร่วมมือกับผู้รับจ้างพัฒนารถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า "โตโยตรอน" จำหน่ายในท้องตลาด ดังที่แถลงข่าวในเดือนกรกฎาคม 2551 และอีกทั้งสมัยเป็นประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน ในสมัย สป.ชุดที่ 2 นายโอกาส เตพละกุล ก็ได้เคยจัดจ้างมหาวิทยาลัยฯดังกล่าวในการทำงานวิจัยให้คณะฯ มาแล้ว
      
       ดังนั้น ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาฯ 2543 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมโดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ดังนั้นเมื่อมีการจะจัดจ้างที่ปรึกษาฯ ดังกล่าวย่อมจะต้องใช้ความระมัดระวังและ/ หรือกระทำการจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใสเป็นพิเศษยิ่งกว่ากรณีจัดจ้างอื่น
      
       นายชาญยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการดังกล่าวเป็นที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 9เดือนมาแล้ว สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำนวนมากก็ไม่พอใจกับคุณภาพงานที่ออกมาและคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังเช่น เอกสารรายงานแจกให้สมาชิกก็ยังมิได้เป็นปัจจุบัน เช่น ฉบับเดือนมีนาคม 2554 รายงานปัญหาราคาน้ำมันปาล์มพึ่งได้นำมาแจกกันวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ซึ่งล้าสมัยใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งผิดไปจากหลักการและเหตุผลในการจัดซื้อจัดจ้าง ว่า "ในการจัดทำความเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นจะต้องมีข้อมูลประกอบที่ทันต่อเหตุการณ์ .............." ดังนั้น คณะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่ได้เล็งเห็นถึงความถูกต้องชอบธรรมจึงขอร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ 2 คณะของวุฒิสภา สภาหอการค้าไทย ป.ป.ช.. และ สตง. ถึงความไม่โปร่งใสดังกล่าวเพื่อจะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อสภาที่ปรึกษาฯ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และเป็นตัวอย่างให้กัแก่หน่วยงานอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
      
       นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา รับมอบเอกสารจากนายชาญยุทธ์ เจนธัญญารักษ์ กล่าวโทษพบปัญหาความไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และน.ส.เยาวลักษณ์ สุขวิวัฒนพร ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ (28 มิ.ย. 54)

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000079361

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น