วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พลิกโฉมปากคลองตลาด ค้าขาย-ท่องเที่ยว

 
พลิกโฉมปากคลองตลาด ค้าขาย-ท่องเที่ยว




อสังหา Real Estate อสังหาฯ Real Estate
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ   
วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2011 เวลา 10:12 น.

alt"ยอดพิมานกรุ๊ป" ควัก 500 ล้านปรับโฉมตลาดดอกไม้ชื่อดังย่านปากคลองตลาด รับสถานีสนามไชย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค,ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ให้เป็นอาณาจักรดอกไม้และกล้วยไม้นานาชาติพร้อมพืชผักผลไม้ครบวงจร ล่าสุดเร่งปรับพื้นที่และประสานกรมเจ้าท่าสร้างท่าเทียบเรือใหม่ อำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าและนักท่องเที่ยว
 นายสมศักดิ์  พจน์ปฏิญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีแผนจะสร้างเส้นทางผ่านพื้นที่ตลาดดอกไม้ย่านปากคลองตลาด เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยจะสร้างสถานีสนามไชยอยู่ใกล้ๆ  ซึ่งขณะนี้ผู้รับเหมาทั้ง 5  สัญญาเข้าย้ายระบบสาธารณูปโภคตลอดแนวเส้นทาง เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายดังกล่าวแล้ว  ดังนั้นบริษัทจึงเร่งปรับโฉมพื้นที่ของตลาดจำนวนกว่า 9 ไร่ให้เป็นตลาดดอกไม้ ตลาดกล้วยไม้ ตลาดพืชผัก-ผลไม้เลื่องชื่อให้สมกับที่เป็นตลาดค้าดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อรองรับการเดินทางมาเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ค้าชาวไทยที่จะนำเงินเข้ามาอุดหนุนสินค้าไทยได้ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ทำให้ชาวสวนดอกไม้สามารถสร้างผลผลิตป้อนสู่ตลาดแห่งใหม่ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งผู้ซื้อยังเข้าถึงแหล่งซื้อ-ขายสินค้าอย่างรวดเร็วขึ้น 
 ทั้งนี้บริษัทลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโฉมใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยาวกว่า 240 เมตรจากท่าเรือราชินี-ท่าเรือสะพานพุทธ สร้างวอล์กเวย์ 2 ชั้นกว้าง 8-10 เมตรเพื่อการเดินทางเชื่อมต่อถึงกัน จัดให้มีมุมร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของที่ระลึก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่รองรับการเปิดตัวสินค้ารูปแบบต่าง ๆ ประมาณ 500 ตารางเมตร
 "รูปแบบยังคงเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ที่เป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับวิถีชุมชน เป็นตลาดเชิงอนุรักษ์รูปแบบใหม่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทุบปรับพื้นที่บางส่วนที่มีสภาพเก่า ชำรุด ทยอยปรับปรุงไปทีละส่วน คาดว่าภายใน 2 ปีจะเห็นรูปแบบใหม่ชัดเจนขึ้น โดยยังจัดให้เป็นตลาดเพื่อการซื้อ-ขายสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่จัดให้เป็นมุมแกลเลอรีออคิดที่ลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับรองรับกล้วยไม้ยอดฮิตจากฟาร์มต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์แสดงพันธุ์กล้วยไม้นานาชาติครบวงจรให้เป็น "ไทยแลนด์ฟลาวเวอร์มาร์เก็ต" จริง ๆ"
 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เร่งประสานกับกรมเจ้าท่า เพื่อสร้างท่าเทียบเรือของผู้ค้าและนักท่องเที่ยวโดยได้ลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้น-ลงอย่างสะดวก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นพื้นที่สวนหย่อมขนาดย่อมเพื่อการพักผ่อนและให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
 "ตลาดยอดพิมานได้เข้าซื้อตลาดดังกล่าวที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร โดยได้เริ่มเข้าไปปรับปรุงแผงค้าและจัดระเบียบการบริหารตลาดใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณตลาดส่งเสริมการเกษตรของกลุ่มตระกูลสุวรรณนภาศรี และตลาดขององค์การตลาดของกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันมีแผงค้าประมาณ 1,000 แผง โดยอยู่ติดถนนจักรเพชร พื้นที่ส่วนหนึ่งบริษัทได้นำมาปรับปรุงเป็นโซนริมน้ำดูสวยงาม น่ามองยิ่งขึ้น"
 นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตลาดยอดพิมานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการเช่าพื้นที่ขายส่งและขายปลีก ร้านค้า ร้านอาหาร ตลอดจนประกอบกิจการให้บริการรักษาความสะอาด  ซ่อมบำรุงรักษา และประกอบกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว การขนส่ง มีกรรมการบริษัทประกอบด้วย 

1.นายสมศักดิ์ พจน์ปฏิญญา 

2.น.ส.บุปผา จงสุจริต 

3.น.ส.กันตพัฒน์ ศุภเลิศธนพงศ์


 "ตลาดยอดพิมานก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2504 ปัจจุบันทรุดโทรม แออัด ไม่เป็นระเบียบ ทางบริษัทได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)ให้พัฒนาปรับปรุง และบริหารจัดการตลาดให้สะอาด  โดยมีแผนจะพัฒนาตลาดริมน้ำให้เป็นตลาดการค้าแห่งใหม่ในรูปแบบผสมผสานเชิงท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกทม. เพราะสภาพปัจจุบันทรุดโทรมอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้"


 ด้านนายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าการรฟม.กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระเริ่มดำเนินการแล้วโดยผู้รับเหมาทั้ง 5 สัญญา ช่วงนี้เป็นการเข้าไปรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคก่อนที่จะเข้าก่อสร้างในต้นปี 2555 
 ทั้งนี้ ช่วงหัวลำโพง-บางแคมีระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน  4 สถานี และวิ่งยกระดับช่วงท่าพระ-บางแค ระยะทาง 9 กิโลเมตร มี 7 สถานี โดยเริ่มจากสถานีหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับรางคู่บริเวณเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางหว้า ภาษีเจริญ บางแค ไปสิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก และมีศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ประมาณ 90 ไร่อยู่ใกล้กับสถานีเพชรเกษม 48
 ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทาง13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 10 สถานี เริ่มต้นจากสถานีรถไฟใต้ดินบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูน มีสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี ไปสิ้นสุดที่แยกท่าพระโดยเชื่อมต่อกับช่วงหัวลำโพง-บางแค มีวงเงินค่าก่อสร้างช่วงหัวลำโพงบางแค 58,345 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 24,778 ล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,645 19-22  มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น