วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเมืองเรื่องคอสเพลย์

การเมืองเรื่องคอสเพลย์

นับตั้งแต่การเลือกตั้ง 2554 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นต้นมา สังคมไทยก็ถูกโหมกระหน่ำด้วยข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคต่างๆ โดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 2 พรรคใหญ่ที่ขยันเป็นข่าวตามหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง และรายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์เป็นประจำทุกวัน

ข่าวพาดหัวหลักหรือที่ในวงการนักข่าวเรียกกันว่า "พาดหัวไม้" ของหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับในไทยจะเป็นข่าวเลือกตั้ง โดยมีภาพประกอบข่าวเป็นกิจกรรมต่างๆ ของนักการเมืองระดับแกนนำ ไป "สวมบทบาท" ร่วมกับคนในพื้นที่หาเสียงที่แตกต่างกันออกไป

ภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 4-5 มิ.ย. 54 (ภาพจาก Facebook ของ @adisaklive)

จากตัวอย่างภาพในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 4 และ 5 มิ.ย. 2554 (ภาพจาก Facebook ของอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้บริหารเครือเนชั่น) เราจะเห็นภาพ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากสองพรรคใหญ่ในบทบาทที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพ น.ส. ยิ่งลักษณ์ไปทำนา หรือนายอภิสิทธิ์ ขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง

ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ไม่มีทางเห็นได้ง่ายๆ ในการเมืองภาวะปกติทั่วไปที่ไม่ใช่ฤดูหาเสียง ส่วนเจตนาของการสวมเครื่องแต่งกาย-สวมบทบาทของเหล่านักการเมืองก็ชัดเจนตรงไปตรงมาว่า ต้องการเรียกคะแนนนิยมจากผู้ประกอบอาชีพด้านนั้นๆ ผ่านการแสดงออกให้เห็นว่า "เราเป็นพวกเดียวกัน" และ "เราเข้าใจคุณ"

การแต่งกายตามลักษณะอาชีพเพื่อ "สวมบทบาท" เป็นผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ มีคำเรียกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่า "คอสเพลย์" (Cosplay)

รู้จักกับ "คอสเพลย์" (Cosplay)

ตัวอย่างการแต่ง cosplay เป็น "เมด" หรือหญิงรับใช้ในคฤหาสถ์ใหญ่ (ภาพจาก Flickr โดย Jesslee Cuizon)

"คอสเพลย์" (Cosplay) เป็นการสมาสคำภาษาอังกฤษ 2 คำคือคำว่า "Costume" ที่แปลว่าเสื้อผ้า กับคำว่า "Play" ที่แปลว่าเล่นหรือสวมบทบาท ซึ่งเป็นวิธีสมาสคำแบบญี่ปุ่นที่นำพยางค์แรกสุดของคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำมาเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างคำที่มีความหมายใหม่

"คอสเพลย์" ถือเป็นการแสดงออกแบบหนึ่งที่คนทั่วไปจะแต่งตัวตามแบบตัวการ์ตูนในหนังสือ นิยายภาพ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบที่มีต่อตัวละครหรือการ์ตูนเรื่องนั้น คอสเพลย์มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น แต่ภายหลังก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตก หรือเอเชียประเทศอื่นรวมถึงประเทศไทยด้วย

ตัวอย่างการแต่งคอสเพลย์แบบตะวันตก เลียนแบบซูเปอร์ฮีโร่อย่างซูเปอร์แมน (ภาพจาก Flickr ของ megadem)

พื้นที่ที่ "คอสเพลย์" ได้รับความนิยมคือถนนฮาราจูกุ ย่านวัยรุ่นสำคัญในโตเกียว และย่านอากิบาฮาระ ซึ่งเป็นย่านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและวิดีโอเกมขนาดใหญ่ของโลก วัยรุ่นที่นิยมการแต่งคอสเพลย์จะนัดแต่งตัวมาเจอกันเพื่อสร้างสีสัน และยืนให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ภายหลังคอสเพลย์แพร่กระจายไปยังการนัดแต่งคอสเพลย์ตามงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนและเกม ผู้จัดงานหลายกลุ่มยังถึงกับจัดการประกวดคอสเพลย์ชิงรางวัลเพื่อสร้างสีสันให้กับงานของตัวเอง

รายละเอียดเพิ่มเติมของคอสเพลย์สามารถอ่านได้จาก Wikipedia (ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย)

รวมภาพ "คอสเพลย์" ของนักการเมืองไทย

ถึงแม้เราจะไม่เห็น "อภิสิทธิ์" ในชุดซูเปอร์แมน หรือ "ยิ่งลักษณ์" ในชุดเมด ในการหาเสียงก็ตาม แต่การแต่งกายและกิจกรรมสวมบทบาทของนักการเมืองไทย (ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์) ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน

นายอภิสิทธิ์นั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

นายอภิสิทธิ์นั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่ จ. ภูเก็ต (ภาพจาก Flickr ของพรรคประชาธิปัตย์)

SIU จึงรวบรวมภาพถ่าย "คอสเพลย์" ของนักการเมืองไทยจากเว็บไซต์ของพรรคการเมืองแต่ละแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นสีสัน เพิ่มกระแสให้ร้อนแรงก่อนการเลือกตั้งจะเดินทางมาถึง

ข้อมูลของ SIU ครั้งนี้ประกอบด้วยพรรคการเมือง 5 พรรคได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยบุคคลที่มาสวมบทบาท "คอสเพลย์" จะเป็นระดับแกนนำของพรรค (ถ้าไม่ใช่หัวหน้าพรรค) ซึ่งได้แก่

  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย
  • นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
  • พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา
  • น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูลหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

(หมายเหตุ: SIU ไม่นับรวมการหาเสียงของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จากพรรครักประเทศไทย ที่แม้จะมีลีลาในการสร้างข่าวมาก แต่เรื่องกิจกรรมและเครื่องแต่งกายยังไม่เข้าข่าย "คอสเพลย์" เท่าไรนัก)

และจากการรวบรวมข้อมูลของ SIU ก็พบว่า "คอสเพลย์" ของนักการเมืองไทยแต่ละพรรคมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจมากทีเดียว

ภาพชุดตีฆ้องร้องป่าว

การเดินสายหาเสียงของนักการเมืองในจังหวัดต่างๆ ย่อมหนีไม่พ้นการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในจังหวัดนั้นๆ และสถานที่ที่พบบ่อยในประเทศไทยก็คือ "วัด" โดยเฉพาะวัดชื่อดังของแต่ละจังหวัด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตีฆ้องระหว่างลงพื้นที่ จ. สุโขทัย-เพชรบูรณ์ (ต้นฉบับจาก Flickr ของพรรคประชาธิปัตย์) ส่วนยิ่งลักษณ์ ตีฆ้องท่าเดียวกันที่พระธาตุนาดูน จ. มหาสารคาม (ต้นฉบับจากเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย)

ภาพชุดเดินตลาดทำกับข้าว

สถานที่หาเสียงที่นิยมอีกจุดคือ "ตลาดสด" ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้คนอันหลากหลาย คนกลุ่มสำคัญคือผู้ค้าขายของในตลาดสดที่เปรียบดัง "ผู้กระจายข่าว" แบบปากต่อปากชั้นยอด จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราเห็นผู้สมัคร ส.ส. เดินสายลงตลาดถี่ยิบ โดยเฉพาะ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ใช้ความเป็นผู้หญิงร่วมค้าขายอาหารนานาชนิดกับแม่ค้าทั่วประเทศไทยได้อย่างกลมกลืน

อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ เดินตลาดสด

นายอภิสิทธิ์ โชว์ลีลาลวกก๋วยเตี๋ยวขณะลงพื้นที่ จ. สุโขทัย-เพชรบูรณ์ (ต้นฉบับจาก Flickr) ส่วนยิ่งลักษณ์ สาธิตการชงกาแฟในการเดินสายหาเสียงที่ จ. หนองคาย โดยบอกว่าเป็นงานที่ช่วยบิดา นายเลิศ ชินวัตร ทำมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก (ต้นฉบับ)

ยิ่งลักษณ์ขวัญใจแม่ค้า

ภาพที่เห็นบ่อยมากในการหาเสียงครั้งนี้คือการสวมบทบาท "แม่ค้า" ขายสินค้าสารพัดชนิดของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นผัดหมี่โคราช ที่ จ. นครราชสีมา (ต้นฉบับ) ขายข้าวเหนียวปิ้ง ที่ จ. หนองคาย (ต้นฉบับ) ตำส้มตำที่อุดรธานี (ต้นฉบับ) และเป็นแม่ค้าขายไก่ทอดที่โรงงานสหฟาร์ม เขตบางกะปิ (ต้นฉบับ)

ภาพชุดผู้ใหญ่ลี-นางมา

ประเทศที่มีรากเหง้ามาจากกสิกรรมอย่างประเทศไทย ย่อมต้องมี "ภาพเอาใจชาวนา" โดยให้นักการเมือง (ที่ชีวิตนี้อาจไม่เคยทำนาเลย) มาลงพื้นที่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจความทุกข์ยากของเกษตรกร เราเลยได้เห็นภาพหนุ่มหล่อ "อภิสิทธิ์" สวมบท "ผู้ใหญ่ลี" ดำนากับชาวนาเสื้อแดง (ต้นฉบับ) และสาวสวยชาวกรุง "ยิ่งลักษณ์" เป็น "นางมา" ยืนขายบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร (ต้นฉบับ)

ต้นฉบับของการสวมบทบาทขวัญใจชาวนา ต้องยกเครดิตให้กับ "ครูใหญ่" เนวิน ชิดชอบ ต้นตำรับทัวร์นกขมิ้นพา พ.ต.ท. ทักษิณ เดินสายค่ำไหนนอนนั่น และ "เรียลลิตี้โชว์" ของพรรคภูมิใจไทย ที่ อ. อาจสามารถ จ. ร้อยเอ็ด ซึ่งเล่นเอานายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถึงกับเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวจากการดำนาไปหลายวัน

นอกจากภาพการลงไปดำนากับดินโคลน เรายังเห็นภาพรูปแบบใกล้เคียงกันอื่นๆ ได้แก่ น.พ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ขี่รถไถแปลงมันสำปะหลังของชาวบ้าน จ. นครราชสีมา (ต้นฉบับจาก Korat Daily News) และยิ่งลักษณ์นั่งท้ายรถอีแต๋น ใส่เสื้อส้มสดใสตัดกับแปลงนาเขียวชอุ่ม ที่เขตคลองสามวา (ต้นฉบับ)

ภาพชุดนายกฯ ยอดนักเตะ

กีฬาอันดับหนึ่งของคนไทยในตอนนี้คือ "ฟุตบอล" ดังเช่นนานาประเทศ และเป็นที่รู้กันดีว่าอดีตนักเรียนเก่าอังกฤษอย่างนายอภิสิทธิ์ คลั่งไคล้ฟุตบอลเหนือสิ่งอื่นใด ถึงขนาดสวมบทเป็นกองหน้าตัวจี๊ด พาทีมรัฐมนตรียิงประตูถล่มทีมวุฒิสภาเละเทะมาแล้วในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ

นายอภิสิทธิ์ในฐานะจอมทัพหมายเลข 9 กับทีมวุฒิสภาเมื่อเดือน พ.ย. 2552 (ภาพจาก Flickr Thaigov)

การหาเสียงรอบนี้นายอภิสิทธิ์ไม่มีเวลาลงเตะเต็มแมตช์ ได้เพียงแต่เดาะฟุตบอลโชว์สื่อมวลชนร่วมกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธินที่สนาม "อารีน่า 10″ ในซอยทองหล่อเท่านั้น (ต้นฉบับ)  ส่วนยิ่งลักษณ์ถึงแม้จะไม่โดดเด่นเรื่องฟุตบอลมากนัก แต่เมื่อลูกรัก "น้องไปค์" รักฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ขนาดว่า "แม่ปู" สร้างสนามฟุตบอลเอาไว้ในบ้านให้ ดังนั้นเมื่อต้องโชว์ลีลานักเตะหญิง ยิ่งลักษณ์ก็ทำได้โดยไม่ขัดเขินแต่อย่างใด (ต้นฉบับ)

อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ เตะฟุตบอล

ภาพชุด นักการเมืองในชุดท้องถิ่น

การแต่งตัวในชุดท้องถิ่น เป็นวิธีง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่าตัวบุคคลที่แต่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน-วัฒนธรรมนั้นๆ ดังนั้นเมื่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ลงพื้นที่สุเหร่าหัวหมากน้อย เขตบางกะปิ จึงสวมผ้าคลุมผม (ฮิญาบ) ดังเช่นสตรีมุสลิม (ต้นฉบับ) ส่วนนายอภิสิทธิ์ ลงพื้นที่ จ. ราชบุรี ก็มีชาวบ้านนำผ้าขาวม้ามาผูกเอวให้อย่างล้นหลาม (ต้นฉบับ)

อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ ในชุดท้องถิ่น

ส่วนการเดินทางทัวร์ภาคเหนือ หาเสียงที่ จ. ลำพูน และเชียงใหม่ นายอภิสิทธิ์ก็ปรับเครื่องแต่งกายมาเป็นชุดประจำถิ่นของภาคเหนือด้วย (ต้นฉบับ)

อภิสิทธิ์ ในชุดภาคเหนือ

ภาพชุดสิงห์นักบิด-สามล้อพาเที่ยว

ถ้า "ชาวนา" เป็นตัวแทนของ "รากหญ้า" ในชนบทแล้ว "มอเตอร์ไซด์รับจ้าง" ก็เทียบได้กับ "รากหญ้า" ของเมืองใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจเหมือนกันที่ผู้สมัคร ส.ส. เกือบทุกพรรคจะร่วมกิจกรรมขับขี่มอเตอร์ไซด์หรือนั่งซ้อนสามล้อเครื่องอย่างคึกคัก

ขี่มอเตอร์ไซด์

นอกจากนั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ภูเก็ต นายอภิสิทธิ์ยังแสดงทักษะการขับขี่มอเตอร์ไซด์ในการทัวร์อีสาน (ต้นฉบับ) พรรคภูมิใจไทยในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคมก็ไม่น้อยหน้า ส่ง "ปู่จิ้น" นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคมาสวมเสื้อวินนำขบวนมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ รถตู้ เดินทางจากที่ทำการพรรคไปยังสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ (ต้นฉบับจากเว็บไซต์ภูมิใจไทย)

มอเตอร์ไซด์ไม่ได้มีแค่สองล้อ น.พ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แสดงการขี่สามล้อเรียกคะแนนจากคนโคราช (ภาพจาก Manager) ส่วนยิ่งลักษณ์ขี่เองอาจจะลำบากเกินไป ใช้วิธีนั่งสามล้อเครื่อง "สกายแลป" ที่ จ. อุดรธานี (ต้นฉบับ)

แต่ถ้าวัดกันที่จำนวนผู้โดยสาร ก็ไม่มีพรรคไหนโดดเด่นไปกว่า พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ที่นำแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาหลายคนไม่ว่าจะเป็นนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ขี่จักรยาน 7 ที่นั่งสั่งทำพิเศษสีชมพู (สีประจำพรรคชาติไทยพัฒนา) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "จักรยานปรองดอง" รอบตลาดนัดจตุจักรเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. (ต้นฉบับจากเว็บไซต์สุทธิชัย หยุ่น)

ข้ามให้พ้นการเมืองแบบคอสเพลย์

ภาพสีสันการหาเสียงของนักการเมืองไทยในบทบาทต่างๆ ที่หาดูได้ยาก ย่อมเป็นที่ดึงดูดของสื่อ และสายตาประชาชนเมื่อติดตามข้อมูลจากสื่อมากกว่าระดับปกติทั่วไป

แต่ถ้าถามว่า ประชาชนคนไทยอยากเห็นนักการเมืองมาสวมบทบาท "คอสเพลย์" แบบนี้จริงๆ หรือ

คำตอบก็คงเป็น "ไม่ใช่"

การหาเสียงเพื่อสร้างสีสัน และเป็นการแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ให้คนไทยรู้จักในวงกว้าง เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในระยะแรกของการหาเสียง (อ่านเพิ่มในบทความ ยิ่งลักษณ์มาร์เก็ตติ้ง) แต่เมื่อกระบวนการหาเสียงดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่ง พี่น้องประชาชนรู้จักตัวผู้สมัคร ส.ส. กันหมดแล้ว ก็ย่อมต้องการข้อมูลในเชิงลึกที่มากกว่านั้นมาก

สิ่งที่คนไทยคาดหวังในตอนนี้ไม่ใช่ว่าผู้สมัคร ส.ส. ไปขายส้มตำที่ไหน หรือเกี่ยวข้าวได้กี่ต้น แต่เป็นการถกเถียงเชิงนโยบายที่เข้มข้น ที่ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคน พรรคการเมืองแต่ละพรรค จะมานำเสนอว่ามีแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยอย่างไร

พรรคการเมืองทุกพรรคเปิดตัวนโยบายมาหลายข้อ แต่ส่วนมากยังเน้นแต่ประชานิยม การสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อเอาใจมวลชน และเกือบทุกพรรคก็ยังไม่พูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนแต่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย เช่น

  • โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมาจากการส่งออก หรือการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ สัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีควรเป็นเท่าไร (ซึ่งเรื่องเหล่านี้เคยเป็นนโยบายสำคัญในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งเสนอแนวทางเศรษฐกิจแบบดูอัลแทร็ค)
  • กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชาในเรื่องปราสาทพระวิหาร ว่าจะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีต่อไป หรือเดินหน้าไปยังแนวทางใช้อาเซียนเป็นเวทีการเจรจา (พรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนเสียที)
  • การปฏิรูประบบภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดกหรือภาษีที่ดิน (ที่นายกรณ์ จาติกวณิช เคยเสนอเอาไว้เมื่อเป็น รมว. คลังใหม่ๆ แต่ผ่านไป 2 ปีกลับยังไม่มีความคืบหน้า) หรือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • การจำกัดปริมาณถือครองที่ดิน และการกระจายอำนาจจากการปกครองส่วนกลางไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน
  • แนวทางของกองทัพไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอัตรากำลังพล งบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และบทบาทของกองทัพต่อสังคมไทย

SIU ขอส่งสัญญาณไปยังสื่อมวลชนไทย ว่าหมดเวลาเกาะกระแสการหาเสียงแบบสร้างสีสันของนักการเมืองแล้ว ถึงเวลาที่สื่อมวลชนจะต้องหันมา "ตั้งคำถาม" ถึงนักการเมืองว่าแต่ละพรรค แต่ละผู้สมัคร ส.ส. มี "คำตอบ" อย่างไรต่อปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียที

http://networkedblogs.com/j2yrs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น