วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศปช.แถลงหากเหตุ "เม.ย.-พ.ค. 53" ปราศจาก "ความจริง" "ปรองดอง-นิรโทษกรรม" ก็แค่เหยียบย่ำคนตาย

 

ศปช.แถลงหากเหตุ "เม.ย.-พ.ค. 53" ปราศจาก "ความจริง" "ปรองดอง-นิรโทษกรรม" ก็แค่เหยียบย่ำคนตาย


วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 17:11:53 น.


กลุ่มญาติวีรชน เมษา-พฤษภา 53 อ่านแถลงการณ์
 




เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ได้แถลงจุดยืนของ ศปช. ต่อประเด็น "ความจริง" และ "ความยุติธรรม"  vs "ปรองดอง" และ"นิรโทษกรรม"โดยอ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีอภิปรายเรื่อง "1 ปี เหตุการณ์ 1 เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป"


อ.พวงทอง ประกาศแถลงการณ์ว่า "ไม่มีความจริงก็ไม่มีความยุติธรรม ปราศจากความยุติธรรม การปรองดอง-นิรโทษกรรม ก็เป็นแค่การสมรู้ร่วมคิดกันเหยียบย่ำคนตาย"


ยิ่งใกล้เลือกตั้ง เสียงเรียกร้องหาความปรองดองโดยกลุ่มต่างๆ ก็ดังเซ็งแซ่ควบคู่ไปกับเรื่องนิรโทษกรรม แม้จะไม่มีความชัดเจนนักว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ใครปรองดองกับใคร ใครบ้างได้นิรโทษกรรม ในความผิดเรื่องอะไร ฯลฯ ศปช. ก็เห็นความสำคัญที่สังคมไทยจะต้องมีความปรองดองเช่นกน ศปช. จึงขอเข้าร่วมมหกรรมการปรองดองด้วยข้อเสนอดังต่อไปนี้


บทเรียนจากวิธีสร้างความปรองดองในอดีตที่ผ่านมาในสังคมไทยชี้ว่า ความปรองดองหมายถึง "การลืม" หรือ "ความเงียบงัน" ต่อความอยุติธรรม ความเจ็บปวด และความสูญเสียที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน เพื่อแลกกับ "ความมั่นคง" ของระบอบอุปถัมภ์ค้ำชูและสนับสนุนความรุนแรงต่อประชาชนความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายหน จึงจบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน เปลี่ยนอาชญากรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใครที่พยายามขุดคุ้ยเรียกร้องหาความจริงและความยุติธรรม จะถูกตราหน้าว่าเป็นพรรคชอบสร้างความแตกแยกปั่นป่วนให้กับสังคม


ความเงียบ การยอมจำนน และความพ่ายแพ้ของเหยื่อจึงเป็นด้านมืดของการปรองดอง รัฐบาลตอบแทนพวกเขาด้วยเศษเงิน พร้อมประกาศว่านี่คือ "การเยียวยา" ผู้มีอำนาจทำราวกับว่าบาดแผลและความตายสามารถลบล้างได้ด้วยเงินเพียงเล็กน้อยสังคมไทยช่างโอบอุ้มและชาชินกับวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) ได้อย่างไม่น่าเชื่อ


ในสังคมอื่นที่เคยประสบความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐเช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนติน่า ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ อย่างน้อยที่สุด ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือ การเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน แต่ในกรณีของไทย ความปรองดองไม่เคยเกิดขึ้นบนฐานความยุติธรรมและความจริงแม้แต่ครั้งเดียว


ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักกล่าวว่า รัฐบาลของตนยึดหลักนิติรัฐ "พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อมๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน" แต่สิ่งที่ผิดปกติอย่างยิ่งก็คือ จนกระทั่งบัดนี้ กระบวนการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดูจะถูกเตะถ่วงและบิดเบือน โดยเฉพาะในกรณี ที่มีมูลว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำให้ประชาชนเสียชีวิต ซ้ำร้ายรัฐบาลยังโยนความผิดทั้งหมดให้กับคนชุดดำและผู้ชุมนุม ทั้งที่ความจริงที่รับรู้กันคือ กองทัพใช้กำลังพลและอาวุธสงครามจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อสลายการชุมนุมครั้งนี้ทั้งๆ ที่จนบัดนี้ รัฐบาลไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากไปกว่าภาพของชายชุดดำไม่กี่คนที่ปรากฎในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า พลเรือนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้ว 1,400 รายเป็นอย่างน้อยนั้น ครอบครองอาวุธไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่รัฐบาลก็ยังยืนกรานเสียงแข็งว่าตนไม่ได้ปราบปรามประชาชน


ในทางตรงกันข้าม มีแต่ฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงและจำนวนมากถูกปฏิเสธขั้นพื้นฐานที่จะได้รับประกันตน "ความยุติธรรมแบบด้านเดียว" นี้จึงเป็นเสมือนการใช้อำนาจรัฐกดปราบปรามประชาชนซ้ำสองภายใต้ข้ออ้าง "นิติรัฐ" อันฉาบฉวยและสองมาตรฐานอย่างชัดเจน


นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเศร้าใจไม่น้อย คือ หนึ่งปีนับแต่การปราบปรามประชาชน กระบวนการค้นหาความจริงของทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่สามารถเรียกศรัทธาจากประชาชนได้เลย กลายเป็นองค์กรปิดที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และยังไม่สามารถรายงานความคืบหน้าของการแสวงหาความจริงที่น่าเชื่อถือแก่ประชาชน หรือไม่ก็เฉื่อยชาต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้อย่างร้ายแรง ในขณะที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สังคมต้องรับรู้ "ความจริง" และมี "ความยุติธรรม" แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่สามารถสลัดหลุดออกจากความปรองดองแบบไทยๆ ที่มุ่งปกป้องสถาบันอำนาจในสังคมเป็นสำคัญ


ฉะนั้น ศปช. จึงขอประกาศว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปรองดอง แต่การแสวงหาความปรองดองใดๆ หลังการเลือกตั้งจะต้องควบคู่ไปกับการสถาปนาความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามปี 2553 ด้วย หากไม่มี "ความจริง" และ "การยอมรับผิด" (accountabillity) จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การนิรโทษกรรมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมย่อมไม่ต่างอะไรกับการช่วยกันเหยียบย่ำศพและกระหน่ำตีบาดแผลของผู้สูญเสีย


ศปช. ขอย้ำว่าวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทย


ด้านกลุ่มญาติวีรชน เมษายน-พฤษภาคม 53 ได้อ่านแถลงการณ์ในงานสัมนาเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเร่งดำเนินการด้วยหน่วยงานที่เป็นกลาง เร่งสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ความยุติธรรมเดินหน้า พร้อมเรียกร้องให้รับประกันว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมกับอาชญากรที่ทำให้เกิดความสูญเสีย รวมไปถึงให้มีการเยียวยา ช่วยเหลือ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ให้กับผู้เสียหายทุกฝ่ายในเหตุการณ์ และสร้างกระบวนการประชาชนในการทำงานทุกภาคส่วนด้วย


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308996936&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น