วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องลึกไม่ลับของ"บัน คี มุน" วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องลึกไม่ลับของ"บัน คี มุน"

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 11:58:36 น.


ต่างประเทศ


ประกาศเสนอตัวอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ "บัน คี มุน" เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่อ้อนขอยืนระยะทำงานรับใช้ "ยูเอ็น" องค์การระหว่างประเทศที่ถือเป็นเสาหลักของความร่วมมือในด้านต่างๆ ของนานาประเทศในเวทีกิจการโลกต่อไปอีกเป็นสมัยที่ 2 ในวาระ 5 ปี หลังจากที่การดำรงตำแหน่งในเทอมแรกของนายบันมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2554

ดูท่าหนทางการยึดกุมเก้าอี้เลขาธิการยูเอ็นไว้ต่อของนายบันค่อนข้างจะสดใสไร้อุปสรรคขวากหนาม

เพราะในทันทีที่นายบันประกาศเสนอตัวรับใช้ยูเอ็นต่อเป็นสมัยที่ 2 ก็มีประเทศมหาอำนาจโลกที่ยังดำรงสถานะสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งมีเสียงชี้เป็นชี้ตายที่สำคัญในองค์การระหว่างประเทศแห่งนี้อย่างจีนและฝรั่งเศสออกมาแสดงความสนับสนุนการเสนอตัวของนายบันในทันที

บวกกับกระแสข่าวในแวดวงนักการทูตเองก็มีออกมาว่าในห้วงเวลานี้ยังไม่ปรากฏว่าจะมีคู่แข่งกระโดดเข้าสู่สังเวียนชิงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นสู้กับนายบันแต่อย่างใด

กระแสข่าวดังกล่าวยังออกมาพร้อมๆ กับข่าวอีกกระแสที่ว่าทั้งยูเอ็นเอสซีและสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่ประกอบด้วยรัฐภาคีสมาชิก 192 ประเทศนั้นจะสามารถปิดจ๊อบในกระบวนการสรรหาเลขาธิการยูเอ็นครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วภายในก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้กันเลยทีเดียว



จริงๆ แล้วการประกาศตัวชิงเก้าอี้เลขาธิการยูเอ็นของนายบันไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่เกินการคาดหมาย หากแต่คาดเดาและสังเกตรับรู้ได้จากความเคลื่อนไหวของตัวนายบันเองอยู่ตลอดเวลาในระยะหลังๆ ช่วงราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการโจษจันเป็นวงกว้างในหมู่นักการทูตประจำยูเอ็นว่านายบันวิ่งล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนที่สำคัญจากสหรัฐอเมริกาและอีก 4 ชาติสมาชิกถาวรยูเอ็นเอสซี อันได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศสและรัสเซีย ซึ่งมีอำนาจยับยั้งที่เรียกว่า "วีโต้" ไว้ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การได้ 5 เสียงโหวตของชาติสมาชิกถาวรยูเอ็นเอสซีมาตุนอยู่ในกระเป๋าของนายบันได้ก็เท่ากับว่าเป็นการเดินเข้าสู่เส้นชัยไปอย่างสบายๆ โดยปริยาย

เพราะแม้สมัชชาใหญ่ยูเอ็นจะทำหน้าที่โหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นอย่างเป็นทางการก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแท้จริงแล้วยูเอ็นเอสซีต่างหากที่เป็นผู้ชี้ชะตาตัวบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการยูเอ็น

ข้อเขียนของ เอดิธ เอ็ม.เลเดอร์เรอร์ แห่งสำนักข่าวเอพีเผยให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในเชิงลึกของนายบัน โดยระบุว่าในขณะที่นายบันเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั่วโลก เขาได้ใช้โอกาสต่างๆ ดังกล่าวในการล็อบบี้หาเสียงสนับสนุนตนเองจากชาติรัฐภาคียูเอ็นอย่างเงียบๆ ไปพร้อมๆ กัน

ข้อเขียนของเลเดอร์เรอร์ยังอ้างการเปิดเผยของ "มาจิด อับเดลาซิส" เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำยูเอ็น ซึ่งยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่มีชาติสมาชิกเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่มากถึง 120 ประเทศ ที่กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่าชาติสมาชิกลุ่มประเทศไม่ฝักฝ่ายใดสนับสนุนนายบันให้ได้รับเลือกทำหน้าที่เลขาธิการยูเอ็นต่อไป

นอกจากนี้ นายบันยังได้รับการสนับสนุนจากอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็นอีก 2 คนในสมัยที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นั่นคือ นายจอห์น โบลตัน และ นายซัลเมย์ คาลิลซาด ที่สะท้อนทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อนายบันออกมาอย่างสอดคล้องกันว่าเขาเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการยูเอ็นต่อไป เพราะการทำงานในช่วง 4 ปีครึ่งที่ผ่านมานายบันสามารถทำงานได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยูเอ็นเผชิญกับภาวะที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันที่นายบันจะประกาศเสนอตัว นายบันยังได้พบหารือกับชาติสมาชิกกลุ่มประเทศเอเชียรวม 53 ประเทศ จนได้รับการสนับสนุนไปแล้วเช่นกัน



แม้เสียงตอบรับต่อตัวนายบันที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางบวก และแม้เจ้าตัวเองจะหยิบยกผลงานที่ตนเองได้แสดงฝีมือเอาไว้ในระหว่างดำรงตำแหน่ง เช่น การผลักดันให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นวาระสำคัญของโลกที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข การส่งเสริมสิทธิสตรี และการฟันฝ่าวิกฤตมนุษยธรรมที่บังเกิดขึ้นในประเทศเฮติ พม่า ปากีสถานและอีกหลายประเทศ

ทว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายบันก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เขาในการทำงานอย่างหนักด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เขาเลือกที่จะละเว้นไม่แตะต้องประเทศมหาอำนาจที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนอยู่

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรวิพากษ์วิธีการทำงานของนายบันในปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีนว่าเป็น "การทูตแบบนิ่งเงียบ" เนื่องจากนายบันล้มเหลวที่จะหยิบยกปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือเอ่ยถึงการคุมขัง นายหลิว เสี่ยว ปอ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีนและเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพขึ้นมาหารือกับ นายหู จิ่น เทา ประธานาธิบดีจีน ในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว

นายบันยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงบุคลิกโดยส่วนตัวของเขาว่าไร้ซึ่งความโดดเด่นไม่น่าดึงดูด

หนึ่งในเสียงวิพากษ์นายบันในประเด็นนี้ออกมาจากเอกสารบันทึกความจำของ โมนา จูล อดีตผู้ช่วยเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำยูเอ็นที่รั่วไหลออกมาในปี 2552 ที่วิจารณ์นายบันว่าเป็นคนที่ขาดเสน่ห์ดึงดูดและเป็นคนที่ยอมจำนนต่อเสียงกราดเกรี้ยวที่ดังมากกว่า

ด้วยปัจจัยแวดล้อมซึ่งดูเหมือนจะเป็นอกเป็นใจให้แก่นายบันเสียมากกว่าในการที่จะรักษาเก้าอี้ตัวนี้เอาไว้ ตอนนี้จึงมีบางคนมองข้ามช็อตไปแล้วถึงการทำงานของนายบันในฐานะเลขาธิการยูเอ็นวาระที่ 2 ซึ่งมองว่านายบันไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งวิตกกังวลว่าจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นต่อหรือไม่

แต่สิ่งที่ตัวเขาควรจะต้องห่วงที่สุดก็คือปัญหาท้าทายต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาค้างคาและเขายังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงๆ มากกว่า!!


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308200332&grpid=no&catid=&subcatid=


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น