วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ร้องรัฐบาล ร่างรธน.ฉบับใหม่- รื้อสร้างกลไกยุติธรรม-สมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน

"ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย" ร้องรัฐบาล ร่างรธน.ฉบับใหม่- รื้อสร้างกลไกยุติธรรม-สมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน

กลุ่ม "ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย" ร่อนแถลงการณ์ถึงรัฐบาลใหม่ เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมปฏิรูปกฎหมาย- ลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อรื้อฟื้นความยุติธรรมในเหตุการณ์สูญเสียทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาเพื่อนำไปปฏิบัติ ดังนี้ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ให้มีการรื้อฟื้นความเป็นธรรมและค้นหาความจริงในกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 จนถึงกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยให้มี "คณะกรรมการสืบค้นความจริงแห่งชาติ" ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจากรัฐสภาทั้งหมด

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐไทยลงนามในกลไกสิทธิมนุษยชนและยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสัตยาบันโรม ซึ่งจะทำให้รัฐไทยผูกพันกับการตรวจสอบของศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย โดยรายละเอียดของแถลงการณ์กลุ่มดังกล่าวมีดังนี้

 

000

จดหมายเปิดผนึก

ถึงว่าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล

เนื่องด้วยผลของการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย เป็นกุญแจสำคัญของการกำหนดทิศทางของประเทศนับจากนี้ พวกเรา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอันประกอบด้วยกลุ่มนักศึกษาที่มีความ คิดและจิตส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยนั้น ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อพรรคเพื่อไทยที่ได้รับชัยในการเลือกตั้งครั้ง นี้จากการสนับสนุนของประชาชนอย่างท่วมท้น ปฏิเสธไม่ได้อย่างยิ่งที่ประชาชนจำนวนมากล้วนคาดหวังกับการแก้ไขปัญหาและ ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยความพยายามและความสามารถของผู้แทนของประชาชน เพื่อฝ่าฝันไปสู่อนาคตได้ และนักศึกษากลุ่มเราก็เช่นกัน ที่ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ไทยในทุกระดับ จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงเป็นการแสดงเจตจำนงและ จุดยืนของพวกเราต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ซึ่งพวกเราใคร่ขอเสนอแนวทางแก่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรค ได้พิจารณาประกอบการบริหารและพัฒนาประเทศและประชาธิปไตย ในประการต่อไปนี้

 

ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีที่มาซึ่งไร้ความชอบธรรมจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บทบัญญัติหลายข้อมีเนื้อหาคลุมเครือ สร้างระบบกลไกที่บิดเบือนต่อหลักการแยกอำนาจ เกิดความเสียสมดุลและประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ หากตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ล้วนถูกกล่าวหาอย่างไร้ความเป็นธรรม  แน่นอนว่าเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวบทและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเสียงของประชาชน ด้วยเจตจำนงเสรีของประชาชน หาใช่การบังคับข่มขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้มีความเป็นประชาธิปไตยและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญต้องเคารพการ ตัดสินใจของประชาชนในการเลือก เคารพอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นหลักการสูงสุด ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกันได้ และเคารพชีวิต เสรีภาพและสร้างความยุติธรรมกับประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่าง  และ ปรับเปลี่ยนบทบาทของกองทัพที่ถือว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้อยู่ภายใต้ อำนาจของประชาชน บทบาทของกองทัพจักต้องมุ่งปกป้องชีวิต อิสรภาพของประชาชนในประเทศและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอุดมการณ์สูงสุด รวมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพทั้งหมด และกำหนดกรอบที่ไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองของประชาชน แต่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดบทบาทของกองทัพ

 

ประการที่สอง  การพิจารณาคดีที่ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและการสืบหา ความจริงในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ กรณี 7 ตุลาคม 2551 เมษายน 2552 และเมษายน –พฤษภาคม 2553 รวมถึงคดีทางทางการเมืองที่พิจารณาอย่างไร้ความเป็นธรรม

ช่วงความวุ่นวายทางการเมืองหลังการรัฐประหารนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ปกปิดและยังไม่ได้สร้างความกระจ่างเท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความยุติธรรมและหาความจริงเพื่อแก้ไขสิ่ง ที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง ลำพังคณะกรรมค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาตินั้น เราเสนอว่าอาจไม่เพียงพอ จึงต้องการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมค้นหาความจริง รวมถึงประชาคมโลก องค์กรระหว่างประเทศด้านความยุติธรรม สิ่งที่เราต้องการคือ 

(1) ให้ คอป.กลายเป็น คณะกรรมการสืบค้นความจริงแห่งชาติ (คสช.) ด้วยคณะกรรมการชุดใหม่ที่รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อลดข้อครหาเรื่องมีส่วนได้ส่วนเสีย และที่มาของกรรมการที่เข้ามาทำงาน ต้องสามารถดำเนินการตามกรอบอย่างเป็นอิสระ ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และพยานเหตุการณ์ ต้องได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของ คสช.ได้อย่างเสรี  

(2) ลงสัตยาบันในสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะธรรมนูญกรุงโรม เพื่อให้คณะอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาร่วมค้นหาความจริงกับ คสช. 

(3) การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขอเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคณะก่อการรัฐประหารในนาม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลพิเศษกรุงเทพ พิจารณาคดีตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมและเผยความจริงต่อประชาชน จำเลย ผู้เสียหายทุกฝ่าย สิ่งเหล่านี้เราอาจถือว่าเป็นงานหลักที่รัฐบาลจะต้องหาความจริงและบอกกับ สาธารณชนเพื่อให้ความกระจ่างท่ามกลางความเชื่อและความเห็นที่เข้าใจกันอย่าง ผิดๆ และสำหรับเราถือว่ามันไม่ใช่การกระทำเพื่อแก้แค้น แต่มันคือการแก้ไขความผิดปกติในประเทศนี้ให้เกิดความถูกต้องและสร้างหนทาง ที่ดีต่อประชาชนทุกคน 

(4) นักโทษคดีทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าคดีความผิด มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ต้องได้รับการพิจารณาคดีใหม่อย่างเปิดเผย รวมถึงชำระความจริงให้สังคมได้ทราบและสามารถตรวจสอบเนื้อหาข้อเท็จจริงใน สิ่งที่ได้บอกกับสาธารณชนได้

 

ประการที่สาม ปฏิรูปกฎหมายทั้งหมดที่ไม่เอื้อต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดขวางการตรวจสอบการบริหารประเทศขององค์กรภาครัฐทุกส่วน

มีกฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องต่อยุคสมัยที่ประชาชนต้องการสิทธิ เสรีภาพในการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและคนรอบข้าง ขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาทำการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทุกฉบับและต้องให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหากฎหมายที่กำลังพิจารณาได้โดยไม่ถูกปิดกั้นและ ตรวจสอบการพิจารณาเนื้อหาของสมาชิกรัฐสภาทุกคนได้ เพราะเราเห็นว่านโยบายที่จะนำไปใช้ แต่กฎหมายไม่เอื้ออำนวยนั้น อาจทำให้การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศมีอุปสรรคในเรื่องโครงสร้างการบริหาร

 

ประการที่สี่   นโยบายต่างประเทศและจุดยืนของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ

ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องดินแดนและอคติต่อเพื่อนบ้านใน เรื่องเชื้อชาติ จะต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องสร้างความมิตรที่ดี ยอมรับความผิดพลาดในเรื่องที่ผ่านมา และร่วมมือกับประเทศต่างๆที่มีจุดยืนและปฏิบัติในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน อย่างจริงใจ ประเทศไทยพร้อมยินดีให้ความร่วมมือ รวมถึงการตัดสินใจในการต่างประเทศต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และชีวิตของมวลมนุษยชาติที่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์โลก นอกจากนี้ประชาคมอาเซียนในอีกสี่ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยจะต้องแสดงความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาความสัมพันธ์และต้องสร้าง ตัวอย่างให้เห็นเป็นประจักษ์สายตาแก่นานาชาติในอาเซียนและนานาชาติ ในการกลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ดีเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้อีกครั้ง และร่วมมือในด้านต่างๆกับองค์กรระหว่างประเทศระดับรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ใช่รัฐด้วย

 

และประการสุดท้าย ต้องรักษาการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นในเรื่อง เสรีภาพ ความเสมอภาคและความยุติธรรม เหนือกว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ไม่ให้กลุ่มการเมืองนอกระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทรกแซงจนเกิดความเสียหายหรือ ลิดรอน ต่อโครงสร้างการเมืองการปกครองภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเด็ดขาด

เราหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้จะสามารถเป็นเครื่องมือให้ประชาชนสามารถสร้างอนาคต กับชีวิตและเสรีภาพที่ทุกคนใฝ่หา เสียสละด้วยเลือดเนื้อ ชีวิตที่ล้มหายตายไปมากมาย ซึ่งทุกท่านไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประชาชนยอมได้แม้กระทั่งชีวิตของพวกเขาเอง เพื่ออนาคตของลูกหลานและตัวเขา และเราจะติดตามการทำงานของพวกท่าน อาจมากกว่าสมัยรัฐบาลก่อนหน้าหลายเท่า เพราะเมื่อเราได้ทุกท่านมาดูแลพวกเรา เราก็ต้องสามารตรวจสอบ ตั้งข้อสงสัยและชี้แนะแนวทางให้ได้เช่นกัน

จึงขอเรียน ให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย อันเป็นความหวังของประชาชนและผู้รักประชาธิปไตย รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอของกลุ่มในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพื่อการพิจารณา และปฏิบัติตามความเห็นชอบและสมควร

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

เขียนที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรกฎาคม 2554

http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35935
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น