วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สมาคมเว็บแจงปัญหาบรอดแบนด์ดีขึ้น

 


 
สมาคมเว็บแจงปัญหาบรอดแบนด์ดีขึ้น
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์6 กรกฎาคม 2554 19:18 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ฟันธงปัญหาความเร็วบรอดแบนด์ดีขึ้นเล็กน้อย ดูได้จากจำนวนผู้เข้าทดสอบ 'สปีดเทส' ลดลง 25% ขณะที่ความเร็วเฉลี่ยยังคงตัวที่ 70% ของแพคเกจที่ซื้อ มั่นใจสปีดเทสมีผลในทางปฏิบัติ
       
       พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า จากข้อมูลโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตหรือสปีดเทส ที่ร่วมมือกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เชื่อว่า ปัญหาเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) น่าจะลดน้อยลง หลังจากที่ผู้ประกอบมีการนำผลการทดสอบในโครงการสปีดเทสไปแก้ไขปรับปรุง รวมไปถึงการที่ผู้บริโภคได้รับการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นในราคาเท่าเดิม ซึ่งเห็นได้จากจำนวนการเข้ามาใช้บริการสปีดเทสลดลง
       
       ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนผู้เข้ามาทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต 1,975,547 ครั้ง เฉลี่ย 10,915 ครั้งต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับผลทดสอบเมื่อปีที่แล้วทั้งปีมีการทดสอบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14,483 ครั้งต่อวัน ลดลง 3,568 ครั้ง หรือประมาณ 24.6%โดยเป็นการเข้าทดสอบจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทีโอที 629,507 ครั้ง หรือ 32% จากทรูอินเทอร์เน็ต 471,155 ครั้ง หรือ 24% และ 3BB จำนวน 267,953 ครั้ง หรือ 14% สอดคล้องกับปีที่แล้ว
       
       ในขณะที่ปัญหาเรื่องการไม่ทราบผู้ให้บริการได้ลดลงจากปีที่แล้วจาก 28% เหลือเพียง 19% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลไอพีแอดเดรสของผู้ให้บริการ โดยมีการนำเซิร์ฟเวอร์ไปวางตามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการายใหญ่หรือรายเล็ก
       
       'ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น มีค่าความเบี่ยงเบนน้อยลง'
       
       นางสาวศรีดา ตันทะอิทธิพานิช กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวเสริมว่า จังหวัดที่มีผู้เข้าร่วมทดสอบสปีดเทสมากที่สุด ยังคงเป็นกรุงเทพฯ 352,244 ครั้ง คิดเป็น 18% อันดับ 2 และ 3 ใกล้เคียงกันคือจังหวัดเชียงใหม่ 56,329 ครั้งหรือ 3% และจังหวัดชลบุรี 52,632 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีการเข้าทดสอบน้อยที่สุด จังหวัดอำนาจเจริญที่มีเพียง 1,326 ครั้ง
       
       ผู้เข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ www.speedtest.or.th มากที่สุดถึง 39.9% ตามมาด้วยเว็บไซด์กระปุกดอทคอม 38.4% และเว็บไซด์พันทิบดอทคอม 10.3% และเกือบ 100% เป็นผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ในจำนวนนี้ 67% ใช้เว็บเบราเซอร์ ไออี ใช้ไฟร์ฟ็อก 17% และ ใช้กูเกิล โครม 15% 
       
       ในด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต ผู้เข้าทดสอบไม่ทราบความเร็วหรือไม่ได้ระบุความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้ทดสอบถึง 43.6% ลดลงจากปีที่แล้วที่มีถึง 55% แต่ก็ถือว่า ยังสูงอยู่ การที่สมาคมฯ ได้เพิ่มระบบช่วยจำข้อมูลความเร็วอินเทอร์เน็ตของผู้เข้าทดสอบช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ลงไปบ้าง
       
       ข้อมูลความเร็วที่ผู้ใช้ระบุในการทดสอบที่ความเร็ว 6 เม็กถึง 28% เป็นความเร็ว 4 เม็ก 5.4% ความเร็ว 2 เม็ก 2.7% และ 8 เม็ก 2.7% เช่นกัน ในขณะปีที่แล้ว จะเกาะกลุ่มอยู่ที่ 4 เม็ก เห็นได้ชัดว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้นในราคาเดิมหรือใกล้เคียง น่าจะเป็นผลมาจากการปรับคุณภาพให้สอดคล้องกับราคาตามกลไกตลาดและการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเอง รวมไปถึงข้อมูลจากโครงการสปีดเทสด้วย
       
       นางสาวศรีดา ยังบอกอีกว่า คุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้น ในภาพรวมของประเทศมีความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 71.1% และมีความเร็วในการอัปโหลดเพียง 9.2% ความเร็วดังกล่าวเทียบจากผู้ใช้ที่เข้ามาทดสอบ 827,888 ครั้ง ถือว่าไม่แตกต่างจากปีก่อนที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ย 71% และอัปโหลดเฉลี่ย 10%
       
       ในปีนี้ สมาคมฯ ยังได้จัดทำโพลล์เพื่อสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้บริการอยู่ จากผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ 2,287ครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2554 พบว่า มีความพึงพอใจกับความเร็วที่ใช้งานอยู่ 58% โดยผู้ที่พึงพอใจบริการระบุว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่รับได้ในระดับ 70-90% เมื่อเทียบกับแพคเกจอินเทอร์เน็ตที่ใช้บริการอยู่มีถึง 31% ชณะที่มีผู้ตั้งระดับความเร็วที่รับได้มากกว่า 90% ขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 24% สมาคมฯ ยังได้สำรวจถึงความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ยอมรับได้ควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับแพคเกจที่ซื้อ มีมากกว่า 61% ที่ระบุว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ควรจะได้น่าจะมากกว่า 90% และอีก 28% บอกว่า 70-90% ก็ยอมรับได้แล้ว
       
       นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า มาตรฐานความเร็วอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% มาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่มีการทดสอบ ซึ่งมาตรฐานความเร็วที่รับได้น่าจะอยู่ที่ 80% ซึ่งเรื่องนี้สบท.จะมีการเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อไปแต่เวลานี้ กสทช.มีการตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานบริการอินเทอร์เน็ตบนมือถืออยู่ ซึ่งมองว่า เป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเทคโนโลยีเอดีเอสแอลเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก ซึ่งเชื่อว่าถ้ากสทช.ผ่านเรื่องมาตรฐานฯ บนมือถือแล้ว มาตรฐานฯบนเอดีเอสแอลก็จะเร็วขึ้น
       
       Company Relate Link :
       สบท
       Speedtest

http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000082995




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น