วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต : เกิดอะไร? อย่างไร? และทำไม? (ตอนต้น) วันที่ 01/07/2554 19:00

92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต : เกิดอะไร? อย่างไร? และทำไม? (ตอนต้น)

วันที่ 01/07/2554 19:00 

โดย เกษียร เตชะพีระ 

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ 

ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่ามกลางวิวาทะ "ใครรับผิดชอบต่อ 92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต?" ที่สนั่นอื้ออึงร้อนแรงขึ้นมาอีกด้วยกระแสหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะเป็นประโยชน์ที่สังคมไทยจะตั้งสติและสดับตรับฟังข้อมูล ค้นคว้าศึกษาเรื่องนี้ในทางวิชาการด้วยจุดยืนและมุมมองสันติวิธี อย่างเป็นภาววิสัยและสงบเย็น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งมีศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นประธาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553" ที่พยายามประมวล ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อสรุปบทเรียนสำคัญ 2 ประเด็นว่า "การชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นโดยสันติเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร? และอะไรเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?"

แทนที่จะปล่อยให้ใครต่อใครใช้ 92 ศพเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง สังคมไทยควรใช้โอกาสการเลือกตั้งเป็นประโยชน์ในการทบทวนสรุปบทเรียน ไม่ให้เกิดศพทำนองนี้อีกในอนาคต

เกิดอะไร?

คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีได้ประมวลเหตุการณ์ประท้วง (ที่อยู่นอกสถาบันการเมืองปกติ) ทั่วประเทศ ทั้งโดยฝ่าย นปช. และฝ่ายที่ตอบโต้, ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ประท้วงโดยสันติวิธีและที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงเชื่อมโยงกับการประท้วง ซึ่งปรากฏรายงานในหนังสือพิมพ์หลัก 6 ฉบับ โดยสอบทวนทุกแหล่งข่าวจากอีกแหล่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพื่อความน่าเชื่อถือและลดอคติ พบว่า : - 
จากวันที่ 13 มีนาคม-6 กรกฎาคม พ.ศ.2553 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 408 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่ (40%) เกิดในกรุงเทพฯ ที่เหลือเกิดหนาแน่นในภาคอีสานและภาคเหนือ ทว่า เบาบางในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยมีจังหวะเวลาการเกิดเหตุประท้วงเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน 2 ช่วงใหญ่ ที่สถานการณ์รุนแรง ได้แก่ 10 เมษายน และ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 (ดูแผนที่ประกอบ)

หากถือว่าเหตุการณ์รุนแรงคือการจงใจทำร้ายชีวิตร่างกายผู้คนหรือทำลายทรัพย์สินโดยตรง ซึ่งอาจแยกย่อยเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) สองฝ่ายใช้กำลังเข้าปะทะหรือเผชิญหน้า 2) มีการยิง 3) มีระเบิดจากฝ่ายหนึ่ง 4) วางเพลิงและอื่นๆ แล้ว ก็สามารถจำแนกประเภทเหตุการณ์ประท้วง โดยทุกฝ่าย 408 เหตุการณ์ได้ดังนี้ (ดูตารางที่ 1)

คณะทำงานฯตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ประท้วงส่วนใหญ่ (60.54%) เป็นไปโดยสันติวิธี 

อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นและยึดครองพื้นที่แม้เป็นสัดส่วนข้างน้อยของการประท้วงโดยสันติ แต่ก็ถือเป็นวิธีการหลักของการเคลื่อนไหว เพราะกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน (ยึดครองสะพานผ่านฟ้าลีลาศและถนนราชดำเนิน 32 วัน, ยึดครองแยกราชประสงค์ 47 วัน หากตัดวันทับซ้อน 12 วันออก ก็กินเวลาโดยรวมที่มีการยึดครองพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯถึง 67 วัน) ส่งผลรบกวนและสร้างความคับข้องใจแก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทั้งด้านธุรกิจ ชีวิตความเป็นอยู่และการจราจร 
กล่าวเฉพาะการเคลื่อนไหวประท้วงของ นปช. ส่วนใหญ่แล้ว (79.2%) เป็นไปโดยสันติ ส่วนการประท้วงแล้วเกิดเหตุรุนแรงเชื่อมโยงกันด้วยนั้นรวมศูนย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกว่าครึ่ง (56.2%) ของเหตุประท้วงรุนแรงดังกล่าว ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ดูตารางที่ 2)

ผลลัพธ์โดยรวมจากเหตุการณ์ประท้วงมีนา-พฤษภาอำมหิต 2553 ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายและถูกจับกุมคุมขังที่เป็นฝ่ายต่างๆ ดังตารางด้านล่างนี้ (ดูตารางที่ 3)

และหากกล่าวเฉพาะผู้เสียชีวิต 92 ราย โดยนำมาวิเคราะห์แยกแยะว่าผู้เสียชีวิตเป็นใครอยู่ ฝ่ายไหนในความขัดแย้ง? และเขาหรือเธอเสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงที่ฝ่ายใดเป็นผู้ริเริ่มปฏิบัติการแล้ว? ก็จะปรากฏผลดังตารางข้างล่างนี้ (ดูตารางที่ 4)

คณะทำงานได้ชี้ปัญหาสำคัญของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดย "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้" หรือที่มักเรียกกันว่า "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" (ซึ่งแปลว่าเราไม่รู้ว่าคนลงมือเป็นใคร? สังกัดหรือมาจากฝ่ายไหนบ้าง? มีกองกำลังอยู่ฝ่ายเดียวหรือต่างฝ่ายต่างก็ทำ? ฯลฯ) ว่า : -

-เป็นผู้ริเริ่มปฏิบัติการในเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนโดยตรง 11 ราย

-ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 รายจากการโจมตีด้วยระเบิดที่สี่แยกคอกวัว

-ซุ่มยิงระยะไกล (สไนเปอร์) ใส่ผู้สนับสนุนเสื้อแดง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย

คาดเดากันกว้างขวางว่า "ผู้ใช้ความรุนแรงที่ไม่อาจระบุได้" เป็นใครบ้าง? แต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงระบุชัด ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ นปช.ต่างเชื่อว่าเป็นแผนการส่วนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามกับตน ความไม่รู้ในเรื่องนี้ทำให้ความจริงโดยรวม-->ความรับผิดชอบ-->ความยุติธรรม-->การให้อภัย-->และการปรองดองสมานฉันท์ยากที่จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยหลังความขัดแย้งมีนา-พฤษภาอำมหิต

ฉะนั้นหากไม่ต้องการให้ความจริง-->ความรับผิดชอบ-->ความยุติธรรม-->การให้อภัย-->และการปรองดองสมานฉันท์บังเกิดขึ้นในสังคมไทย (อาจเพราะเกรงมันจะคุกคามสั่นคลอนอำนาจ ฐานะของตน) ก็จักต้องปิดบังอำพรางกลบเกลื่อนและขัดขวางการสืบหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้เอาไว้ อย่างสุดความสามารถต่อไปและตลอดไป

และสังคมที่ธำรงรักษาไว้ซึ่งความเท็จ-->ความไม่พร้อมรับผิด-->ความอยุติธรรม-->ความเจ็บแค้น-->และการขัดแย้งหวาดระแวงชิงชังอย่างยั่งยืน ย่อมเอื้อให้เกิด "ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก" - มิไยว่าจะเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม



ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น