วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ร.ฟ.ท.เร่งเชื่อม 3 รถไฟฟ้ารอบ ร.พ.ศิริราช

ร.ฟ.ท.เร่งเชื่อม 3 รถไฟฟ้ารอบ ร.พ.ศิริราช


อีเมล
PDF

โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ   
วันศุกร์ที่ 01 กรกฏาคม 2011 เวลา 10:35 น.

altบอร์ดการรถไฟฯจี้ที่ปรึกษาศึกษาเร่งออกแบบรายละเอียดการวางโครงข่ายขนส่งมวลชนแก้ปัญหาจราจรเชื่อมการเดินทางฝั่งธนบุรีและรอบร.พ.ศิริราช สนองพระราชดำริ เน้นพัฒนาระบบรางเชื่อมโครงข่ายถนน-สะพาน-ทางเดินใต้ดินช่วยลดค่าใช้จ่าย และไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ปลัดคมนาคม เล็งตัดช่วงรถไฟฟ้าสายสีส้มสิ้นสุดแค่จรัญสนิทวงศ์ 
 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้การรถไฟฯไปหารือกับบริษัทที่ปรึกษาในโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีส้ม สายสีแดง และสายสีน้ำเงิน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชและการจราจรฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการจัดเตรียมพื้นที่ของการรถไฟฯ บริเวณตลาดสถานีรถไฟธนบุรี สำหรับการขยายพื้นผิวจราจร โดยให้เร่งรัดการเจรจากับผู้ประกอบการตลาดดังกล่าวเพื่อปรับปรุงพื้นที่ใหม่ 
alt "การปรับปรุงโครงข่ายรถไฟทั้งสายสีแดง สายสีส้มและสายสีน้ำเงินจะเชื่อมต่อกับช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นหลัก ดังนั้นจึงให้แนวคิดกับการรถไฟฯไปหารือบริษัทที่ปรึกษาที่น่าจะให้สายสีส้มสิ้นสุดแค่จรัญสนิทวงศ์ เพราะมีสายสีแดงเชื่อมต่อไปถึงตลิ่งชันอยู่แล้ว ส่วนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เกิดการเชื่อมต่อจะทำที่จอดรถใต้ดินและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนสำหรับประชาชนที่มาใช้บริการร.พ.ศิริราช ให้สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้นด้วยระบบรถไฟฟ้าทั้งนี้ทรงให้หลักการในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ว่าจะต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และต้องไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวมถึงต้องมีกำหนดระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจนและแน่นอน"
 สำหรับโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมที่เชื่อมโยงพื้นที่ฝั่งธนบุรีโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชตามแผนที่กำหนดไว้นั้น ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย คือ 

1. รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย (ตลิ่งชัน-ศิริราช)ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,484 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2555 และเปิดให้บริการในปี 2558 ตามแผนที่กำหนด 

2. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ( มีนบุรี-บางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-สนามหลวง-ธรรมศาสตร์-ศิริราช-ตลิ่งชัน ระยะทาง 37 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 137,750 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2556 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2561 และ

3. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กิโลเมตร ขณะนี้บริษัทผู้รับเหมาเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้วโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2559 


 "ต้องมีการศึกษาความเหมาะสมเรื่องแนวเส้นทางตลอดจนเรื่องงบประมาณที่ชัดเจนอีกครั้งโดยพบว่าบริเวณหน้าสถาบันการแพทย์สยามมินทร์ของร.พ.ศิริราชนั้น จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม โดยทางเข้าตัวสถานีจะเป็นทางเดินใต้ดิน และจะทำทางเชื่อมใต้ดินไปสู่อาคารของร.พ.ศิริราชเพื่อความสะดวก นอกจากนี้จะมีสถานีร่วมของรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีแดง, สีส้ม และสีน้ำเงิน  ที่บางขุนนนท์ ถนนจรัญสนิทวงศ์อีก 1 แห่งซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและมีความสะดวกยิ่งขึ้น"


 ด้านนายยุทธนา  ทัพเจริญ  ผู้ว่าการร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในส่วนของร.ฟ.ท.จะมีการพัฒนาสถานีรถไฟบางกอกน้อย (ธนบุรี) โดยเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงบริเวณหน้าวัดอรุณอัมรินทร์ ซึ่งยังจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งทำเลที่จะต้องมีการบูรณาการใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับความก้าวหน้าเอาไว้ตั้งแต่วันนี้
 "ขณะนี้อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษากำลังศึกษาออกแบบความเหมาะสมตามที่มีพระราชดำริเพื่อให้สอดคล้องกันมากที่สุด แต่คาดว่าจะหนาแน่นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ช่วงแยกพรานนกมากขึ้น อีกทั้งยังมีอีกหลายกระบวนการสำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทาง เช่นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการพิจารณางบประมาณที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะสายสีแดงช่วงศิริราชเชื่อมไปยังสถานีตลิ่งชันหรือสายสีส้มที่จะผ่านพื้นที่ดังกล่าว"


 นายยุทธนา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นกทม.ยังมีแผนที่จะก่อสร้างถนนยกระดับเข้าไปในพื้นที่ของตลาดส่วนหนึ่งเชื่อมออกไปยังแยกศิริราชและเชื่อมต่อไปยังแยกพรานนกเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรช่วงหน้าโรงพยาบาลให้สามารถเดินทางจากแยกอรุณอัมรินทร์ไปสู่แยกพรานนกและตลิ่งชันได้รวดเร็วและง่ายขึ้น 
 "ทราบว่าขณะนี้สำนักการโยธากรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการออกแบบ โดยได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่มายังการรถไฟฯประมาณ 2 ไร่จากบริเวณติดกับสะพานอรุณอัมรินทร์เลี้ยวขวาด้านหน้าตลาดแล้วเลี้ยวซ้ายออกไปยังแยกศิริราชก่อนที่จะเลี้ยวขวาไปยังแยกพรานนก ถนนจรัญสนิทวงศ์ซึ่งสามารถลอดใต้ทางรถไฟสายสีน้ำเงินต่อไปยังตลิ่งชันต่อไป คาดว่าน่าจะเร่งรัดสรุปผลการศึกษาออกแบบได้ในเร็ว ๆ นี้  ส่วนกรณีการขอพื้นที่ตลาดสถานีรถไฟธนบุรีคืนบางส่วนนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้นโดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกำลังเจรจาเนื่องจากมีปัญหาเรื่องภาระการต่อสัญญารับบริหารจัดการตลาดดังกล่าวมาเกี่ยวข้องน่าจะสรุปแล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้เพราะอาจต้องนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่เห็นชอบก่อน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,649  3-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น