วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขอทาน คนเร่ร่อน ลุ้นของขวัญรัฐบาล

 

 

Pic_188884

ธนู

ขอทาน คนเร่ร่อนจรจัด และคนไร้ที่พึ่ง ที่เห็นเตร็ดเตร่อยู่บนสะพานลอย หรือตามฟุตปาทสองข้างถนน ใช้ชีวิตค่ำไหนนอนนั่น ณ เวลานี้มีอยู่จำนวนเท่าไร ไม่มีใครตอบได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ตอบได้ทันที ก็คือ รากเหง้าของปัญหาที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งซึ่ง

เคยมีชีวิตปกติสุข ต้องเปลี่ยนสภาพไปเป็นขอทาน คนเร่ร่อนจรจัด หรือคนไร้ที่พึ่ง (ไร้ญาติ และที่อยู่) กว่าร้อยละ 95 ล้วนมีสาเหตุเชื่อมโยงมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวแทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ขัดแย้งขั้นรุนแรงกับสมาชิกอื่นในครอบครัว และอีกสารพัดปัญหา ที่ทำให้ใครบางคนรู้สึกว่า ตนคือส่วนเกิน หรือไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัว

ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวถูกเรียกรวมๆว่า "ภาวะครอบครัวล่มสลาย" นั่นเอง

เมื่อใดก็ตามที่ครอบครัวประสบกับภาวะล่มสลาย มักจะผลักไสให้ใครบางคน ต้องออกไปเผชิญชะตากรรมตามท้องถนน กลายเป็นคนเร่ร่อนจรจัด ขอทาน ไม่ก็คนไร้ที่พึ่ง อย่างหนึ่งอย่างใด เสมือนเป็นการย้ายที่อยู่ใหม่ให้ปัญหา จากภายในบ้านออกสู่ชุมชนและสังคมภายนอก

เคยมีผู้รวบรวมเป็นสูตรสำเร็จไว้ว่า  สถาบันครอบครัว  จะเข้มแข็งหรือไม่ต้องประสบกับภาวะล่มสลาย อย่างน้อยครอบครัวนั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 7 อย่าง

1.ชุมชนที่ครอบครัวนั้นตั้งอยู่ ต้องเข้มแข็ง

2.ครอบครัวนั้นต้องพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สุขภาพ ฯลฯ

3.ครอบครัวนั้นต้องพึ่งตนเองได้ในระดับชุมชน

4.ชุมชนอันเป็นที่ตั้งของครอบครัว ต้องมีความปลอดภัย ไร้อบายมุข และไร้โรคติดต่อ

5.ครอบครัวนั้นต้องสามารถปรับตัวได้ในภาวะยากลำบาก และสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่างๆ

6.ครอบครัวนั้นต้องมีต้นทุนทางสังคมอยู่บ้าง

และ 7.ภายในครอบครัวนั้น จะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งหมายถึง จะต้องประกอบด้วยความรัก การยอมรับระหว่างกัน การมีส่วนร่วมของทุกคนในครอบครัว เคารพบทบาทของแต่ละคนในครอบครัว และมีการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในครอบครัว

กว่าจะครบองค์ประกอบทั้ง 7 อย่างสู่ความเป็น "ครอบครัวที่เข้มแข็ง" ดูเหมือนไม่ง่ายนักสำหรับหลายครอบครัวไทยสมัยนี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละครอบครัวสมัยใหม่หลายครอบครัวมีส่วนสร้างปัญหาออกสู่ชุมชนและสังคม ไม่มากก็น้อย

ในวาระที่อีกไม่นาน คนไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ แถมยังเป็นรัฐบาล

ประชานิยม เน้นนโยบายโดนใจคนส่วนใหญ่ หากว่า ขอทาน คนเร่ร่อนจรจัด และ คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นอีกคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ปรารถนาบางสิ่งจากรัฐบาลที่พวกเขา

คาดหวังว่าน่าจะนำพาความสุข และสมหวังมาให้บ้าง น่าสนใจว่าพวกเขาเหล่านี้ต้องการสิ่งใด

"ถ้าขอพรได้ 1 อย่างเหมือนในนิทาน อยากให้นายกฯคนใหม่ที่เป็นผู้หญิง และท่าทางใจดีเหมือนนางฟ้า ช่วยให้ฉันได้เจอกับนายจ้างผู้ใจบุญ ที่ไม่รังเกียจคนอายุมาก และไร้ที่พึ่งอย่างฉัน ได้มีงานทำกับเค้าสักที จะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนให้ถูกจับตัวมาไว้ที่นี่อีก"

น.ส.จำนงค์ ทองอนันต์ อดีตหญิงเร่ร่อน วัย 51 ปี หนึ่งในผู้ซึ่งถูกเรียกตามสถานะใหม่ว่า "ผู้รับบริการฯ" ของสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี โปรยยิ้มให้เล็กน้อย ก่อนฝากความหวังให้ช่วยส่งต่อไปยังว่าที่นายกฯคนใหม่

จำนงค์เล่าว่า ก่อนที่เธอจะเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในสถานแรกรับแห่งนี้ ย่างเข้าเป็นเดือนที่ 5 เธอเคยหาเลี้ยงชีพด้วยการตระเวนเก็บขวดน้ำพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ตามชายหาดพัทยา ชั่งกิโลฯขาย

เธอบอกว่า ตัวเองเป็นคนมือไม้ดี และไม่เคยคิดที่จะงอมืองอเท้าเป็นขอทาน แต่ที่ผ่านมาสังคมไม่ให้โอกาสคนอายุมาก ไร้ที่พึ่ง และไร้ความรู้อย่างเธอ จึงทำให้เธอต้องตกอยู่ในสภาพหญิงเร่ร่อน

"ก่อนจะเก็บของเก่าขาย ฉันเคยไปสมัครล้างจานตามร้านอาหาร ก็ไม่มีใครรับ อ้างว่าเราอายุตั้ง 40-50 ขึ้นไปแล้ว กลัวจะทำงานให้ได้ไม่เต็มที่ เพราะยังงี้ไงเล่าถึงได้เห็นคนแก่เร่ร่อน ไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีที่ซุกหัวนอน เที่ยวออกขอทานกันทั่วบ้านทั่วเมืองไปหมด"

เธอว่า ถ้าเลือกได้ ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพอย่างที่เธอเป็น ถึงแม้เธอจะมีอายุเกินกว่า 50 ก็ยังอยากจะทำงาน มีรายได้หาเลี้ยงตัวเอง อยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ดังนั้น เธอจึงฝากร้องขอไปยังรัฐบาลใหม่ให้ช่วยส่งเสริมอาชีพแก่ผู้มีอายุ และไร้ที่พึ่งพิง เพื่อเป็นการสกัดปัญหาคนเร่ร่อนที่จะตามมา

นอกจากจำนงค์ เพื่อนร่วมชะตากรรม อย่าง ปราชญ์ พิจิตรชุมพล วัย 48 ปี ผู้มีความสามารถทั้งอ่าน พูด และเขียนอังกฤษได้ ในระดับใช้งาน หรือ พ.จ.อ.สง่า เอี่ยมอ่อน วัย 51 ปี อดีตนาวิกโยธินแห่งทัพเรือไทย พูดภาษารัสเซียได้คล่องปรื๋อ เพราะได้อดีตภรรยาเป็นชาวรัสเซีย

แม้ชะตาชีวิตของทั้งคู่ จะพลิกผันด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ต้องมาเป็น "ผู้รับบริการฯ" ณ สถานที่แห่งนี้ แต่ทั้งคู่ก็เห็นด้วยกับจำนงค์ ภายใต้เหตุผลเดียวกัน นั่นคือ อยากให้สังคมยอมรับพวกเขาอีกครั้ง เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งก่อนจะกลายมาเป็นคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งพิง พวกเขาเคยได้รับการยอมรับจากสังคม

ใช่แต่ผู้รับบริการฯอย่างจำนงค์ ปราชญ์ และสง่า แม้แต่ผู้ให้บริการแก่ผู้ด้อยโอกาสกว่า 240 ชีวิต อย่าง ธนู ธิแก้ว ผู้ปกครองสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี ก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างจากว่าที่รัฐบาลใหม่

เขาบอกว่า ก่อนอื่นต้องแยกแยะระหว่างคนไร้ที่พึ่งกับขอทาน ซึ่งเป็นผู้รับบริการคนละกลุ่มกัน พวกไร้ที่พึ่งจะมีลักษณะเร่ร่อน ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีญาติพี่น้อง หรือถึงมีก็ไม่คิดจะกลับไปหาคนเหล่านั้น ส่วนขอทานบางคนยังมีบ้าน มีผู้ดูแล หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มแก๊ง

ธนูบอกว่า ภารกิจของเขา ก็คือ เมื่อได้รับการส่งตัวทั้งขอทาน และคนไร้ที่พึ่งต่อมาจากตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่บางหน่วย เช่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ประชาบดี อปพร. หรือเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาสังคม (ศพส.) ของแต่ละจังหวัด สถานแรกรับฯนนทบุรี จะรับตัวทั้งขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง มาดูแลในเบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือน

พ้นระยะ 3 เดือนไปแล้ว จะเริ่มทำการคัดกรองหากเห็นว่าผู้รับบริการฯส่วนหนึ่ง เป็นผู้ที่สามารถส่งตัว กลับคืนสู่ครอบครัว หรือชุมชนได้ ก็จะส่งคืน โดยมีการประสานและติดตามผลกับทางครอบครัวหรือชุมชน

สำหรับผู้รับบริการฯอีกส่วน ที่ไร้ญาติ หรือชุมชนไม่สามารถรับตัวกลับได้ จะถูกส่งตัวต่อไปยังสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งมีทั้งหมด 9 แห่ง เพื่อให้การดูแลคนเหล่านี้ในระยะยาวต่อไป

"เรื่องบุคลากรและงบประมาณจำกัด แม้จะกระทบบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่ สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญกว่าและอยากฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ ก็คือ ควรเร่งส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว มีความมั่นคงมากขึ้น เพราะถ้าทำในจุดนี้ได้สำเร็จ อีกหลายปัญหาที่จะไหลบ่าตามมา

กลายเป็นปัญหาสังคม จะถูกตัดไฟตั้งแต่ต้นลม"

ธนูบอกว่า เวลานี้หลายครอบครัวในสังคมไทย ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอหรือล่มสลาย ความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวมีน้อยลง เกิดความรู้สึกห่างเหิน บางคนอยู่ในครอบครัวแล้วไม่มีความสุข จึงต้องออกไปเร่ร่อน

แต่ถ้าคนในครอบครัวดูแลกันดี มีเมตตาสงสาร มีการสื่อสารที่ดี และมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกันบ้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นปราการอย่างดี ช่วยเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น

"ขอยกตัวอย่าง มีหลายวิธีที่รัฐบาลอาจใช้ส่งเสริม เพื่อให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมในลักษณะค่ายครอบครัว ลดค่าเข้าเที่ยวชมอุทยานฯ หรือสวนสัตว์ของทางราชการ หรือร่วมกับสถานที่ท่องเที่ยวของภาคเอกชน มอบส่วนลดให้ในกรณีที่ไปเที่ยวชมพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว"

"นอกจากนี้ ยังอาจใช้มาตรการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษีให้แก่บางครอบครัว ที่ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ครอบครัวที่พากันไปเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือคนชรา หรือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากภายในชุมชน  หรือครอบครัวที่พากันไปร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน หรือไปช่วยพัฒนาวัด เป็นต้น"

ธนูบอกว่า บางประเทศใช้วิธีการเหล่านี้ โดยให้คะแนนเป็นแต้ม แลกกับวันหยุดลาพักผ่อน สำหรับเมืองไทยถ้าทำได้สำเร็จ จะได้ผลเกินคาดถึง 2 ต่อ ต่อแรกทำให้เกิดความรักและผูกพันกันมากขึ้นในครอบครัว ต่อที่สอง จะทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในชุมชน และสังคม

"เมื่อใดที่ครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่มเย็นเป็นสุข ก็เท่ากับปิดประตูปัญหา" เขาทิ้งท้าย.

http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/188884




--
http://www.thaismeplus.com/news-en/business-news/1168.html
http://projects.silodesign.nl/vcm/
http://masterpieces.asemus.museum/default.aspx
http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=1036185&page=32
http://twitter.com/RAFIKALGER
http://profile.imageshack.us/user/RafikH...
http://www.mixpod.com/playlist/47308482
http://fr-fr.facebook.com/people/Rafik-H...
http://www.tlcb.or.th/index.php?option=com_content&view=frontpage&Itemid=494
http://www.moeradiothai.net/home.php?webid=1
http://www.depthai.go.th/Default.aspx?tabid=114&qCategoryID=61&qKeyword=0
http://www.youtube.com/watch?v=W7giBy862zo&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=6bLZPatq53k&feature=fvw
http://www.youtube.com/watch?v=zN-LR9_IYpA
http://www.kmutt.ac.th/rippc/info.htm
http://www.fccthai.com/TheBulletin.html#517



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น