วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัย ปชป. พ่ายแพ้ "เนวิน"กับข้อหาคนทรยศ 91 ศพ กับคำตอบ"ชายชุดดำ"

ปัจจัย ปชป. พ่ายแพ้ "เนวิน"กับข้อหาคนทรยศ 91 ศพ กับคำตอบ"ชายชุดดำ"

วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:31:47 น.

Share

ในประเทศ

ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะมีเหตุผลมากกว่า "ปัญหาของแพง" อย่างที่แกนนำพรรคเอ่ยอ้าง

การประเมินดังกล่าว เป็นการประเมินแบบหลบเลียแผลใจ เก็บงำความรู้สึกเอาไว้ข้างใน เพราะรู้กันอยู่ว่า ไม่ว่าจะเป็นข้าวของแพง น้ำมันขึ้นราคา ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก

ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่มีปัญญา

หากแต่เหตุผลหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ "พ่ายแพ้" น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น

โดยเฉพาะ การประเมินยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ผิดพลาด

แน่นอนเหตุผลหนึ่ง น่าจะมาจาก พรรคประชาธิปัตย์ จับมือร่วมหัวจมท้ายกับพรรคภูมิใจไทยของ "เนวิน ชิดชอบ" แบบพันธมิตร โดยหวังว่าจะกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลอีกครั้ง

ด้วยความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ว่า มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีอำนาจเงินอยู่ในกระเป๋า

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประชาธิปัตย์เคยใช้มาแล้วเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ที่มีพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นเสมือนพันธมิตรที่จะช่วยเจาะ และเก็บเกี่ยวคะแนนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยการนำของ พินิจ จารุสมบัติ ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ที่มี "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" หนุนอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าพรรคเพื่อแผ่นดินเป็น "นอมินี" ของทหาร ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดเส้นทางเดินของพรรคพลังประชาชนในยุคนั้น

ที่สุดก็ "พ่ายแพ้" แบบหมดสภาพ

จนทำให้พรรคพลังประชาชน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ไม่แปลกที่ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น มีการกล่าวโทษ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ใจไม่ถึง-มือไม่เติบ จนต้องยอมจำนนต่อพรรคพลังประชาชน



ครั้งนี้ก็เช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ ไปฝากความหวังเอาไว้กับพรรคภูมิใจไทย ด้วยความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ว่า จะสามารถเจาะพื้นที่อีสานได้ในระดับหนึ่ง

ด้วยอำนาจรัฐ อำนาจเงิน ที่พรรคภูมิใจไทยแสดงความมั่นใจผ่านแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และสื่อมวลชนว่าจะได้ที่นั่ง 70 ที่นั่ง

ดูจากอาการของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงออกถึงความมั่นใจอย่างเห็นได้ด้วยคำพูดที่ว่า "เขียนแปะข้างฝาไว้ได้เลย"

มั่นใจว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ 170-175 ที่นั่ง บวกกับพรรคภูมิใจไทยอีก 70 ที่นั่ง

เหนาะๆ 250-255 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

นั่นคือ "สมการ" ที่พรรคประชาธิปัตย์คิด โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวช่วย

หากแต่ไม่ได้นึกถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหา จนทำให้ตัวเลขแกว่ง

องค์ประกอบแรก การที่พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะ "เนวิน" ถูกทำให้มีภาพของความเป็น "คนทรยศ" ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่รุนแรงและขยายวงกว้างดุจ "สึนามิ" แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามแก้ไขภาพลักษณ์ของคนทรยศที่ติดตัว

แต่กลับกระทำการในลักษณะตรงกันข้ามคือ ทำหนังสือและแผ่นซีดี เกี่ยวกับการล้มล้างสถาบันไปแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป โดยหวังดึงคะแนนคนอีสานให้ "ตีกลับ"

แต่การกระทำดังกล่าว กลับกลายเป็น "บูมเมอแรง" ที่ตีกลับเข้าใส่ "เนวิน-ภูมิใจไทย" แบบไม่ทันตั้งตัว

จะเห็นได้จากความพยายามของผู้สมัคร ส.ส.ภูมิใจไทย พยายามที่จะยิง "ลูกโดด" เพื่อเอาตัวรอดในหลายพื้นที่

หรือการต้อนรับด้วย "ขวดน้ำ-รองเท้า-เสียงโห่" ในทุกเวทีปราศรัยที่พรรคภูมิใจไทยในภาคอีสานที่พูดใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย

จุดนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่ "สุเทพ" แม้แต่ "เนวิน" ไม่ยอมปรับยุทธศาสตร์



แกนนำพรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ผิด ที่ไม่ยอมปรับยุทธศาสตร์การหาเสียง เพราะเชื่อมั่นว่ามีอำนาจรัฐและอำนาจปัจจัยอยู่ในมือ

ทำให้ไม่สามารถฝ่ากระแสเพื่อไทยเข้ามาได้

ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ อดีต ส.ส. หลายคน กลายเป็น "ส.ส.สอบตก" ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี หรือ ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต ส.ส.นครพนม

จึงไม่น่าแปลกใจที่ "เนวิน ชิดชอบ" ออกอาการเครียดไม่อยากพูดคุย สุงสิงกับใคร หลังทราบผลการเลือกตั้ง

เพราะเจ้าตัวรู้แล้วว่า ประเมินสถานการณ์ผิด

เป็นการประเมินสถานการณ์ผิดที่ส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

องค์ประกอบต่อมาคือ การตอบคำถามของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการเสียชีวิต 91 ศพ ของกลุ่มผู้ชุมนุมในโศกนาฏกรรมเมษายน-พฤษภาคม 2553

การเสียชีวิต 91 ศพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ "จนแต้ม"

จริงอยู่ "อภิสิทธิ์" พยายามแก้ต่างด้วยคำพูดที่รอมชอม ประนีประนอมว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังดำเนินการอยู่

แต่ติดอยู่ที่ "คนที่ลงมือกระทำ" เป็น "ชายชุดดำ"

ตรงนี้อาจทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจอยู่เต็มมือ มีหน่วยงานรัฐที่เชี่ยวชาญและเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ทำไมไม่จับ "ชายชุดดำ" มาดำเนินคดี

ตรงนี้ไม่มีคำตอบ

กอปรกับลูกพรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกที่จะเล่นคนละบทกับ "อภิสิทธิ์" ด้วยการตอกย้ำแผลแห่งความเจ็บปวดในการชุมนุม

ซึ่งในทางทฤษฎี แทบจะไม่มีผลใดๆ เลยต่อแกนนำผู้ชุมนุม อย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ น.พ.เหวง โตจิราการ

หากแต่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์แบบเต็มๆ



การแสดงออกด้วยการปราศรัยใหญ่ ที่มาพร้อมกับ "น้ำตา" และ "เสียงสะอื้น" ของสุเทพและอภิสิทธิ์

ถูกมองว่า เป็นการยอมรับความผิดจากการบริหารประเทศ โดยเฉพาะจัดการกับการชุมนุมที่ "ผิดพลาด"

แม้จะไม่พูดตรงๆ แต่การที่ระบุว่า "นอนร้องไห้อยู่นาน" ของ "อภิสิทธิ์" หรือเสียงสะอื้นของ "สุเทพ"

เป็นการแสดงออกที่ชัดเจน

จริงอยู่ตามลักษณะนิสัยของคนไทย ที่พร้อมให้อภัยคนที่กลับตัวได้

แต่ในทางการเมือง การกระทำของ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ที่มาทำในช่วงหาเสียงเลือกตั้งถูกมองว่า ทำได้ทุกอย่าง เพื่อขอคะแนนเสียง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนหนึ่ง แสดงความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการตอกย้ำให้คนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนอีสานที่รู้สึกเจ็บปวดจากการกระทำของรัฐบาลอยู่แล้วเจ็บลึกเข้าไปอีก

เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพราะหากดูจากสถิติตามโพลของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ยิ่งชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยแย่งคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ในทุกพื้นที่ ยกเว้นแค่ภาคใต้

นี่อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ที่ไม่ต้องคิดตามกรอบเดิมๆ โดยหวังพึ่งคนอื่นมากกว่าพึ่งพาตนเอง


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310139124&grpid=no&catid=50&subcatid=5000

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น